เปิดเหตุผล 'ครม.' คง 'VAT' 7% ถึงปี 66 หวังเพิ่มจับจ่าย - ลงทุน
แม้จะมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ปรับขึ้นภาษีมูค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% แต่ในที่สุด ครม.ก็ตัดสินใจคง VAT 7% ออกไปอีกและเป็นการอนุมัติรวดเดียว 2 ปี ในปี64-66 โดยมีเหตุผลสำคัญเรื่องการรักษาการบริโภค และสนับสนุนลงทุนของธุรกิจช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นจากโควิด
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ รัฐบาลแทบทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีชนิดนี้เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในด้านต่างๆ โดยอัตราการจัดเก็บ VAT ของแต่ละประเทศแตกต่างกันไปโดยเฉลี่ยทั่วโลกจัดเก็บภาษีชนิดนี้อยู่ที่ 15.5%
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ารายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเป็นรายได้ที่สูงที่สุดขอการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้กว่า 606,670 ล้านบาท
จากรายได้ของภาครัฐที่ลดลง สวนทางกับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มีข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการจำนวนมากที่เสนอให้มีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% รวมทั้งล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทเพื่อดูแลเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 และปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10%
ทั้งนี้การปรับเพิ่มขึ้นของ VAT ทุกๆ 1% จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี หากแต่การปรับเพิ่มภาษีทุกชนิดรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจตามมาโดยอาจจะเกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจได้จึงต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งฝ่ายนโยบายก็ตัดสินใจแล้วว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19ในขณะนี้
ที่จริงแล้วสำหรับประเทศไทยอัตรา VAT ที่แท้จริงอยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่ว่าเมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT เหลือที่ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็น 7% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะเป็น 10% รวมทั้ง
มติ ครม.ในวันที่ 24 ส.ค.2564 ก็จะทำให้ไทยยังคง VAT 7% ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2566 เป็นอย่างน้อย ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
โดยยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีในอัตราเดิม คือ7 % (รวมภาษีท้องถิ่น) หรืออัตรา6.3 % (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคงอัตราเดิม7 % จะไม่ผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณพ.ศ. 2565 และ พ.ศ.2566 เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตรา7% แล้ว
โดยเหตุผลที่ ครม.ยังคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% และอนุมัติเเป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากมีการพิจารณาเหตุผลที่กระทรวงการคลังรายงาน ว่าการขยายระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรานี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563
และในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นวงกว้าง การบริโภาคภาคเอกชน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง
ประกอบกับรายได้ของภาคการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวสูง จากมาตรการการจำกัดการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศ จึงอาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5 - 2.5% จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและประมาณการค้าโลกที่ยังทำให้การส่งออกขยายตัวได้ แต่ตัวเลขดังกล่าวในการคาดการณ์เศรษฐกิจของกระทรวงการคลังก็คาดว่าจะมีการทบทวนประมาณการต่ำลง
ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงพิจารณาแล้วเสนอ ครม.ว่าเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมูลค่าเพิ่มโดยลดอัตราการเก็บเหลือ 7% ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 เป็นสิ้นสุด 30 ก.ย. 2566 โดยจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อนจะทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้มีการรายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบว่ากระทรวงฯได้มีการประมาณการสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้แล้วโดยไม่มีการสูญเสียรายได้แต่จะไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มได้ เนื่องจากมีการคำนวณว่าโดยปกติหากสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นทุกๆ1% จะได้ 7 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อไม่มีการขยับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นภาครัฐก็จะยังไม่ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนนี้