ส่งออกพุ่งหนุน 'ฮัทชิสัน' ลงทุนแหลมฉบัง 2 หมื่นล้าน
“ฮัทชิสัน พอร์ท” เปิดผลงาน 6 เดือนแรกปีนี้ ขนส่งสินค้าพุ่งกว่า 10% ตอกย้ำภาคส่งออกฟื้นตัว เร่งลงทุน 2 หมื่นล้าน ปรับโฉมท่าเรือแหลมฉบังอัตโนมัติด้วยระบบ AI มั่นใจอีอีซีจะหนุนธุรกิจโตต่อเนื่อง
ในขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ในขั้นตอนตรวจร่างสัญญาร่วมลงทุนก่อนที่จะลงนามเพื่อพัฒนาเป็น “สมาร์ทพอร์ต” แต่ในการบริหารท่าเรือส่วนอื่นมีการลงทุนปรับปรุงเช่นกัน รวมถึงท่าเรือเรือชุด D ที่ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นผู้บริหาร โดยตั้งงบลงทุนไว้ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ภาวะการค้าโลกขยายตัวทำให้การขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวถึง 14%
สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ภาพรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2564) ปริมาณตู้สินค้าของท่าเทียบเรือฮัทชิสันมีจำนวน 1.7 ล้าน ที.อี.ยู.เติบโตราว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการนำเข้าของไทยที่เติบโตกว่า 26.2% และการส่งออกมีมูลค่า 132.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของปริมาณตู้สินค้าท่าเทียบเรือฮัทชิสันนั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเพื่อให้บริการแก่เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (ULCV) และสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่นี้ไปแล้วจำนวน 66 ลำ อีกทั้งยังมีการรองรับเรือ MSC MINA เรือขนส่งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขีดความสามารถในการบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ถึง 23,256 ที.อี.ยู.โดยสัดส่วนของการขนส่งด้วยเรือขนส่งตู้สินค้า ขนาดใหญ่พิเศษนี้มีมากถึง 12% ของจำนวนเรือขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดที่เทียบท่าเรือฮัทชิสันในครึ่งปีแรก ของปี 2564
“ภาพการเติบโตที่เห็นเป็นเพราะส่วนหนึ่งช่วงปีก่อนท่าเรือหลายแห่งปิดให้บริการไป ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขนส่งสินค้า ลูกค้าในกลุ่มอเมริกาเหนือและยุโรปที่อัดอั้นการใช้จ่ายในช่วงล็อคดาวน์ จึงเริ่มมีการซื้อสินค้าในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา”
สำหรับปริมาณการขนส่งสินค้าของท่าเรือแหลมฉบังในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องไปกับท่าเรือหลายแห่งในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามที่มีปริมาณการขยายตัวสูงสุดถึง 44.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนมีปริมาณการขยายตัวราว 17% ซึ่งการเติบโตของท่าเรือในเวียดนามนั้น แสดงให้เห็นว่าเวียดนามกำลังจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ มีโรงงานระดับโลกเข้าไปใช้เป็นฐานการผลิต อาทิ ซัมซุง อดิดาส
ทั้งนี้ ประเทศไทยในปัจจุบันยังถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพสูง จากอัตราการขยายตัวของปริมาณตู้ขนส่งสินค้าที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีอัตราการเติบโตถึง 14.9% ดังนั้นหากมีการผลักดันภาคคการส่งออกให้คล่องตัว และควบคุมปัจจัยด้านสาธารณสุขไม่ให้มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่โรงงาน เชื่อมั่นว่าการส่งออกจะยังเป็นกลไกสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19
นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการนำเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาสนับสนุนการส่งออก บริษัทเชื่อว่าจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น “ท่าเรือฮัทชิสัน” ในฐานะผู้นำด้านบริการท่าเทียบเรือในประเทศไทย มีโครงการริเริ่มพัฒนาท่าเรือลงทุนนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการให้บริการให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกลพร้อมเทคโนโลยีอัตโนมัติอันทันสมัย
“ความท้าทายของการทำธุรกิจในยุคโควิด-19 ผมมองว่าเป็นการจัดการด้านสุขภาพของทางพนักงาน เพราะเทรนด์ของการส่งออก ความต้องการการขนส่งสินค้าในปีนี้ เห็นสัญญาณแล้วว่ายังเติบโตดี เรื่องเดียวที่กังวล คือ การควบคุมการระบาดในกลุ่มโรงงาน เพื่อซัพพอร์ตการส่งออก ตอบรับต่อดีมานด์ของลูกค้าในต่างประเทศ”
ขณะที่โอกาสทางธุรกิจจากนโยบายรัฐบาลที่เร่งผลักดันการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนั้น ฮิทชิสันมองว่านโยบายดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังนั้น จะก่อให้เกิดโอกาสทางการขนส่งสินค้าให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นส่วนหนึ่งของ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะทำให้พื้นที่ท่าเรือนี้มีศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัว ฮัทชิสันประเมินภาพรวมปริมาณตู้สินค้าในปี 2564 ซึ่งหากไม่มีปัจจัยลบเพิ่มเติม คาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตของปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าปี 2562 ที่มีปริมาณ 3.32 ล้าน ที.อี.ยู. และเติบโตมากกว่าปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ที่มีปริมาณตู้สินค้า 3.19 ล้าน ที.อี.ยู.
อาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไป บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า ฮัทชชิสันวางแผนที่จะขยายศักยภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือต่างๆ โดยมีเป้าหมายประมาณ 6.75 ล้าน ที.อี.ยู.ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะผลักดันควบคู่ไปกับการลงทุนพัฒนาท่าเรือฮัทชิสัน ในท่าเทียบเรือชุด D หรือ Terminal D บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง
“ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุด D เรามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมบริการต่างๆ เป็นปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้า โดยตามแผนฮัทชิสันจะใช้งบประมาณการลงทุนราว 2 หมื่นล้านในท่าเทียบเรือชุด D สร้างท่าเรือเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตด้วยระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ”
ทั้งนี้ภายในปี 2565 ท่าเรือฮัทชิสันจะมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าเข้าประจำการที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้อีก 4 คัน เพื่อรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่มากกว่า ULCV อีกทั้งจะพัฒนาลานตู้สินค้าให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี และบริการภายในท่าเรือฮัทชิสันด้วยเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า อาทิ รถบรรทุกไร้คนขับ บังคับผ่านระบบ AI ใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน เพื่อตอกย้ำเป้าหมายท่าเทียบเรือที่ทันสมัย ขับเคลื่อนการเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม