‘อีไอซี’ชี้อสังหาฯชะลอตัวต่อเนื่อง‘ทาวน์เฮ้าส์’ดีมานด์วูบ-สต็อกเพิ่ม
อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยพิษโควิดกระทบตลาดทาวน์เฮ้าส์ ดันซัพพลายสะสมพุ่ง ลูกค้าหันนิยม “บ้านแฝด” ขณะที่ “บ้านเดี่ยว” โตช้าลงจากข้อจำกัดที่ดิน
นายเชษฐวัฒก์ ทรงประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กลับมาชะลอตัวลง โดยเฉพาะ “ทาวน์เฮาส์” ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดระดับกลางถึงล่างที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจสูง ผู้ประกอบการต้องทำโปรโมชั่นต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดเรียลดีมานด์ แม้มีปัจจัยเสริมจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง แต่ยังถูก “จำกัด” เฉพาะที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
“ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีทิศทางชะลอตัวจากครึ่งแรกของปีที่มีเริ่มสัญญาณการฟื้นตัว คาดว่าหน่วยขายได้ที่อยู่อาศัยแนวราบในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2564 จะอยู่ที่ 35,000 หน่วย ติดลบ 1-3% จากปีก่อน”
ด้านอุปทานผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังหรือชะลอการเปิดโครงการใหม่ในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ ซึ่งหน่วยเหลือขายสะสมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเปิดโครงการบ้านเดี่ยวมีแนวโน้มเติบโตช้าลงจากข้อจำกัดด้านที่ดิน
ภาพรวมหน่วยเปิดตัวใหม่ที่อยู่อาศัยแนวราบปีนี้ ปรับตัวลดลง หรือ ติดลบ 36-39% อยู่ที่ 29,000-30,000 หน่วย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหน่วยเปิดตัวใหม่ที่อยู่อาศัยแนวราบในช่วงปี 2560-2562 ก่อนเกิดโควิด ซึ่งอยู่ที่ 50,000 หน่วยต่อปี ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีโอกาสค่อยฟื้นตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่เป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยแนวราบตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะบ้านแฝดได้รับความนิยมมากขึ้น จากกลุ่มกำลังซื้อระดับปานกลาง-บน เพราะคุ้มค่าทั้งด้านราคา ฟังก์ชัน พื้นที่ใช้สอย และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าจะส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบบริเวณแนวเส้นทางและปลายสายรถไฟฟ้ามีความน่าสนใจ
อย่างไรก็ดี ที่อยู่อาศัยแนวราบยังเผชิญความท้าทายสำคัญหลายด้านจากปัจจัยลบที่เกิดจากอุปทานส่วนเกินโดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ แม้มีการเปิดโครงการใหม่ลดลง แต่กำลังซื้อที่ชะลอตัว ทำให้การดูดซับทาวน์เฮาส์ออกจากตลาดใช้เวลานาน รวมถึงการเปิดโครงการบริเวณแนวเส้นทางและปลายสายรถไฟฟ้าสายใหม่ ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้นขณะที่การปรับขึ้นของราคายังเป็นไปอย่างจำกัด ต้นทุนพัฒนาโครงการปรับตัวสูงขึ้น จากราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
โดยผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์ด้วยการพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กลง มีมูลค่าไม่สูงมาก ลดจำนวนหน่วยขายต่อโครงการ ทยอยเปิดโครงการทีละเฟส เน้นความคุ้มค่า และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น และให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัย นอกจากนี้มุ่งขยายสู่ธุรกิจอื่นที่สร้างรายได้ประจำ (recurring income) มากขึ้น เช่น ให้เช่าโรงแรม นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล บริการด้านวิศวกรรม ผลิตกระแสไฟฟ้า ขนส่งและคลังสินค้า