‘ดัชนีความเชื่อมั่น’ เศรษฐกิจภูมิภาค ส.ค.64 ปรับตัวลดลงหลายภูมิภาค
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคต ศก.ภูมิภาคเดือน ส.ค.64 ปรับตัวลดลงในหลายภูมิภาค จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมของภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก ยังมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในอนาคต
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2564 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวลดลงในหลายภูมิภาค จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมของภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกยังมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในอนาคต”
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.4 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ เช่น การประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม คาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวชะลอลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดการผลิตลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากการเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพด และกาแฟ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวชะลอลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของภาคบริการ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการบางแห่งปิดให้บริการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอต่อการเพาะปลูก และความต้องการสินค้าเกษตรในพื้นที่มีเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ 42.7 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการและการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจภาคบริการลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและปิดกิจการชั่วคราว
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 39.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอลง ตามแนวโน้มของภาคบริการและการลงทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลายส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการบางแห่งยังไม่สามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 39.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวชะลอลง ตามแนวโน้มของภาคบริการและการลงทุน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่ลดลง จากมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับผู้ประกอบการยังชะลอการลงทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 38.2 สะท้อนภาวะอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานและการลงทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำกัดเวลาการทำงานและจำกัดจำนวนแรงงานใหสอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข