เกษตรแนะแก้“มิสซิ่ง ลิงค์” โลจิสติกส์หนองคาย-เวียงจันทน์

 เกษตรแนะแก้“มิสซิ่ง ลิงค์”  โลจิสติกส์หนองคาย-เวียงจันทน์

การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสปป.ลาว-จีนอย่างเต็มรูปแบบในระยะยาว จะเป็นโอกาสที่ดีของไทย ทำให้มีทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยังจีนได้มากขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง เตรียมพร้อมเพื่อผลักดันในช่องทางการค้าดังกล่าว

ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางรถไฟสายสปป.ลาว-จีน ปลายปี 2564 กระทรวงเกษตรฯได้ขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศหรือประเทศที่สาม เช่น การพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ร่วมกับกรมศุลกากร และการปรับลดขั้นตอนในการนำเข้าส่งออกของหน่วยงานใน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ที่ยุ่งยากออกไป

163056441892

โดยปัจจุบัน กระทรวงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนาธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ NSW ได้ 117 ธุรกรรม คิดเป็น81.82 % จากทั้งหมด 143 ธุรกรรม และสามารถปรับลดขั้นตอนการทำงานสำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็งและวัตถุอันตราย ได้ 66 รายการ คิดเป็น 89.19% จากทั้งหมด 74 รายการ ส่วนที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ได้กำชับให้หน่วยงานเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 เพื่อสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟสายสปป.ลาว-จีน

ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และแนวทางการพัฒนาระยะเร่งด่วนให้พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนธ.ค. 2564 รวมทั้งระยะปานกลาง และระยะยาวในช่วงที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม สินค้า เกษตรมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละชนิดสินค้า ซึ่งมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ 1. มิติต้นทุน กรณีส่งออกผลไม้สดจะมีเรื่องของการสูญเสียระหว่างขนส่งมากกว่าสินค้าแปรรูป ซึ่ง ความสดใหม่และการเน่าเสียจะง่ายกว่า จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการกระแทก และรักษา คุณภาพของผลผลิตมากกว่าสินค้าแปรรูป 

2. มิติเวลา กรณีส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปแช่แข็ง จำเป็นต้องใช้การขนส่งที่เหมาะสมด้วยระบบ cold chain เข้ามาช่วยรักษาคุณภาพของสินค้า ให้ไม่เกิดการเน่าเสีย

นอกจากนี้ จากปัญหาสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ยังมีข้อจำกัด เนื่องจาก สินค้าที่ส่งออกทางรางจากด่านหนองคายจะไปสุดปลายทางที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ซึ่งยังไม่เชื่อมต่อจุดที่ขนส่งทางรางไปยังจีน ดังนั้น สินค้าจะต้องถูกเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟไปสู่รถบรรทุกขนส่ง ณ ท่านาแล้ง สู่สถานีคำสว่างของลาว ระยะทาง 15-20 กม. ถึงจะเปลี่ยนถ่ายจากรถบรรทุกขนส่งไปยังรถไฟก่อนส่งต่อไปยังจีนได้ ซึ่งการเปลี่ยนถ่าย สินค้าจากรถไฟ-รถบรรทุก-รถไฟ จะต้องใช้ระยะเวลาในการขนถ่าย หากบริหารจัดการไม่ดี จะเป็นปัญหาของการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เรื่องนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทย-สปป.ลาว-จีน ต้องหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปิด เส้นทางรถไฟสายลาว-จีน

ในส่วนของเกษตรกรผู้ผลิต ควรเน้นในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้ มาตรฐานการส่งออก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญและส่งเสริมเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการเตรียมความพร้อมของ ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ในระยะแรกที่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาความ คุ้มค่าในการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางดังกล่าวให้รอบคอบ เนื่องจากมีจุดที่ขาดการเชื่อมโยง Missing link ระยะทาง 15-20 กม. ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้า