สบน.เร่งจัดแผนบริหารหนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย

สบน.เร่งจัดแผนบริหารหนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย

สบน.เตรียมจัดทำแผนบริหารหนี้ระยะปานกลาง เพื่อวางแผนการกู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย​ ขณะที่​ รัฐบาลเตรียมพิจารณากรอบการก่อหนี้เร็วๆนี้

นางแพตริเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า สบน.เตรียมจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลางหรือในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อวางแผนเงินกู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ หลังเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิด-19คลี่คลาย

เธอกล่าวว่า คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะต้องประชุมเพื่อกำหนดแผนดังกล่าวในเร็วๆนี้ ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่า ประเทศมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดูแลเศรษฐกิจ และกรอบเพดานหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพีไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็สามารถมีมติขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะดังกล่าวได้

“การดูแลเศรษฐกิจไม่ใช่ดูเฉพาะช่วงเวลานี้ จะต้องดูไปในระยะข้างหน้า เช่น 1 -2 ปีข้างหน้าว่า เรามีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดูแลเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด หากจำเป็นต้องกู้ และการกู้นั้น อาจทำให้เพดานหนี้สาธารณะสูงกว่ากรอบที่กำหนด เราก็สามารถขยายกรอบได้”

อย่างไรก็ตาม จนถึงสิ้นเดือนก.ค.นี้ ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล อยู่ที่ 55.59 % ของจีดีพี ขณะที่ คาดว่าจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 หรือ ณ 30 ก.ย.นี้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล จะอยู่ที่ประมาณ 58% ซึ่งยังต่ำกว่าเพดานที่กำหนด

เธอกล่าวอีกว่า การบริหารหนี้สาธารณะของสบน.นั้น ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ทำให้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทย ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆที่มีระดับเครดิตเรตติ้งใกล้เคียงกับประเทศไทย

สำหรับการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนั้น ในส่วนของพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีกรอบวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ตามกฎหมาย

ในส่วนพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินใช้จ่ายก้อนแรกจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ จำนวน 1.23 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น วงเงินใช้จ่ายในโครงการด้านสาธารณสุข 1.4 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นในโครงการเยียวยาประชาชน จนถึงปัจจุบันได้กู้ไปแล้ว 6.5 หมื่นล้านบาท และเบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้ว 3.42 หมื่นล้านบาท

ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง10เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ค.2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1.917ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายท 2.16 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 10.2% แต่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลดลงส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ประกอบกับการดำเนินนโยบายการคลังและภาษีเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ