อสังหาฯชู "โซลาร์รูฟท็อป"แม่เหล็กดึงลูกค้า-แหล่งรายได้ใหม่
โควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านและการทำงานที่บ้านนานขึ้นส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอสังหาฯหันมาให้ความสนใจเนื่องจากพลังงานสะอาดเป็นเทรนด์ของโลกแถมยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ !!
"เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการเลือกบ้านในขณะนี้นอกจากทำเล ความต้องการที่อยู่อาศัยของแต่ละคนแล้ว ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับราคา รายได้ของตนเอง และ ตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดค่าใช้จ่ายร่วมด้วย ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ทำให้ "บ้าน" กลายเป็นที่ทำงาน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการทำงานที่บ้าน ( Work from home)เพื่อลดการแพร่เชื้อ ทำให้ค่าไฟฟ้าต่อเดือนแพงขึ้น
ในปีที่ผ่านมาเสนาฯได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทุกยูนิตในโครงการทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นแบรนด์ “เสนาวิลล์” ราคาเริ่มต้น 2 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมมุ่งเน้นลูกค้าในกลุ่มโครงการบ้านเดี่ยว มาเป็นการให้บริการลูกค้ากลุ่มโครงการบ้านขนาดเล็ก หรือ ทาว์น์เฮาส์ โดยจะเป็นการติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อปขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าในอัตรา 20-30% ของราคาผ่อนบ้าน อยู่ที่กว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน
"เรามองว่า ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ในส่วนนี้ ก็จะช่วยให้ลูกค้ามีเงินไปผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น จึงน่าจะเป็นจุดสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น"
"พีระพงศ์ จรูญเอก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มองว่า ทิศทางของโลกในอนาคตจะหันมาใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ของไทยยัง "ไม่มี" ใครที่ลุกขึ้นมาขานรับเมกะเทรนด์นี้เพื่อผู้บริโภคอย่างจริงจัง จึงมองหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งด้านพลังงานสะอาดโดยได้ร่วมลงนามสัญญาการร่วมทุนกับ " กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง " เพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานสะอาดในที่อยู่อาศัยให้สอดรับเมกะเทรนด์ด้านความยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพย์สินในอนาคต ควบคู่กับการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวแก่ลูกบ้าน
เริ่มจากการติดตั้ง“ โซลาร์รูฟท็อป” เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายภายในพื้นที่ส่วนกลางโครงการคอนโดที่แล้วเสร็จ ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าจากระบบดังกล่าวจะมีราคาถูกกว่าอัตราค่าไฟฟ้าทั่วไป ช่วยลดภาระค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางในแต่ละโครงการ ในไตรมาส 3/2564 นี้
ขณะเดียวกันติดตั้งและเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มโครงการบ้านจัดสรร ด้วยการติดตั้ง“ โซลาร์รูฟท็อป” พร้อมวางระบบเชื่อมต่อทั่วทั้งโครงการ เพื่อให้ลูกบ้านสามารถประมูลซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันได้ (Peer-to-peer Energy Trading) ในราคาที่ถูกกว่าอัตราค่าไฟฟ้าทั่วไป ทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าให้พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่อาจเหลือทิ้งกลับกลายเป็นรายได้สู่ลูกบ้าน และบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับโครงการคอนโด
“ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ”ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี้ พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์ ระบุว่า ปัจจุบันพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดกำลังเป็นเทรนด์ที่หลายภาคส่วนต่างหันมาให้ความสนใจ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมารองรับต่อความต้องการในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายการลดใช้พลังงานและลดปัญหา สภาวะโลกร้อน บริษัท จึงได้รับความไว้วางใจจากหลายหน่วยงานในการให้เข้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การติดตั้ง การซ่อมบำรุง หรือแม้แต่กระทั่งการจำหน่ายแผงโซล่าร์ โดยทีมงานวิศวกรระดับมืออาชีพ อีกทั้งมีเทคโนยีอันทันสมัย ล่าสุดขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เหล่าดีเวลลอปเปอร์เลือกใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจและ สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ลูกค้าของตน โดย ได้รับความไว้วางใจจากแอสเซทไวส์ หนึ่งในผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่สำนักงานใหญ่ รวมถึง ตัวโครงการที่พักอาศัยในอนาคต
ด้วยเหตุนี้เอง “โซลาร์รูฟท็อป” จึงกลายเป็น แม่เหล็ก (Magnet)ที่สำคัญอันดับของธุรกิจอสังหาฯในการดึงลูกค้า ขณะเดีบวกันนั้นยังเป็น แหล่ง“รายได้ใหม่” ให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ เนื่องจากมูลค่าตลาดมีแนวโน้มสูงถึง 1.37 แสนล้านในช่วง 10 ปีข้างหน้า นอกจากกระแสรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อป มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาจากความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้นนั้น มีปัจจัยสนับสนุนจากราคาโซลาร์รูฟท็อปที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโควตารับซื้อไฟของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า
“พชรพจน์ นันทรามาศ ”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า รายได้ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเพียง 3.6% ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าที่เคยเติบโตได้ 7.2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศโดนกดดันจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 89.3% ต่อจีดีพี ทำให้ความต้องการซื้ออสังหาฯลดลง ส่วนกำลังซื้อของชาวต่างชาติถูกจำกัดจากมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงต้องมองหาแหล่งรายได้ใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นสิ่งหนึ่งที่ภาคครัวเรือนให้ความสนใจ ดังนั้นผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงหันมาสนใจตลาดธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นเพื่อแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ