กบข.ชี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวระยะสั้น มั่นใจระยะยาวยังคงแข็งแกร่ง
กบข. มอง"เศรษฐกิจจีน"ชะลอตัวระยะสั้น จากผลกระทบโควิดและมาตรการภาครัฐ มั่นใจแข็งแกร่งในระยะยาวจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน
ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า การขยายตัวทาง"เศรษฐกิจของจีน"เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสะท้อนจากผลกระทบของ หลายสาเหตุสำคัญ ได้แก่
1. มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ภายหลังจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในประเทศ
2.การบริโภคภาคเอกชนและครัวเรือนแข็งแกร่งน้อยกว่าหลายปีก่อนหน้า โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากเกิดความกังวล China hard landing ในปี 2558
3.นโยบายลดปริมาณหนี้ (Deleveraging)
4. การจัดระเบียบและนโยบายการควบคุมของภาครัฐ (Regulatory Crackdown) ต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในหลายภาคอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจ e-commerce ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจเกมออนไลน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีน (PBoC) เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกครั้ง เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio หรือ RRR) ลง 0.5%
ส่งผลให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงินประมาณ 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการรับมือต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเริ่มปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนอาจจะทยอยปรับลดความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์ในระยะถัดไป
รวมทั้งคาดว่ารัฐบาลจีนอาจจะออกมาตรการทางการคลังระยะยาว เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มเติม รวมถึงอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Medium-Term Lending Facility : MLF) ตามด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate : LPR) ทั้งอายุระยะสั้นและกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลด RRR ในลำดับถัดไป
สำหรับมุมมองการลงทุน กบข. มองว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในระยะสั้น แต่ระยะยาวยังคงเติบโตแข็งแกร่งจากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อในระดับมหภาคให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
ลดการผูกขาดในการทำธุรกิจของบริษัทรายใหญ่ เพิ่มการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดความไม่เท่าเทียม เพิ่มความเข้มงวดต่อความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) และ มีความมั่นคงร่วมกัน (Common Prosperity)