EEC แล้วไง…ใครได้-เสีย ชุมชนถาม ...ใคร? จะตอบ
บทความโดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา อธิบายถึงการชี้แจงงบประมาณประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันนออก (สกพอ.) ต่อคณะกรรมาธิการศึกษา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 ของวุฒิสภา
ในการชี้แจงงบประมาณประจำปีของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันนออก หรือ สกพอ. ต่อคณะกรรมาธิการศึกษา พรบ.งบประมาณประจำปี 2565 ของวุฒิสภา นั้น ทำผมให้แปลกใจที่งบประมาณของหน่วยงานในส่วนของกองทุน EEC ที่มีน้อยมาก ด้วยงบดำเนินงานทั้งหมดมีเพียง 40 ล้านบาทในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นชุมชนต่อโครงการ EEC และปีนี้เป็นปีแรกที่ได้รับ
ความเข้าใจแรกของผมก็ คือ ไม่เชื่อว่า สกพอ. ไม่ขอจัดสรร แต่คงเป็นเพราะ คนจัดสรรงบประมาณคงมองว่ามีกิจกรรมเยอะแยะของหน่วยงานปกติที่ลงไปในพื้นที่ในการพัฒนาและทำร่วมกับชุมชนในสามจังหวัดนั้นแล้ว จะให้ไปก็ถือว่าซ้ำซ้อน ยิ่งงบมีน้อย ๆ อยู่ด้วย
เหตุที่ผมให้ความสำคัญกับกิจกรรมกับชุมชน เพราะทุกครั้งที่การสำรวจหรือการพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่ EEC สิ่งที่ยังคงค้างคาใจคนในพื้นที่ก็คือ ชีวิตพวกเขาดีขึ้นอย่างไรที่ถิ่นเกิดของเขาอยู่ใน EEC นอกเหนือจากเห็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น ถนนหนทาง รถไฟฟ้าความเร็วสูง สนามบินใหม่ ที่ทันสมัย ที่พวกเขาแทบจะไม่ได้ใช้มากนัก และการไหลบ่าเข้ามาของคนนอกถิ่นที่เข้ามาแย้งกิน แย่งอยู่ สร้างขยะ มลพิษ และปัญหาสังคม ตามมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายของ สกพอ. มาโดยตลอด และไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยใดรับเป็นเจ้าภาพหลัก นอกจาก “ช่วย ๆ กันทำ” ซึ่งเรื่องนี้บ้านเราก็พอเดาผลลัพธ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไรกับคำว่า ช่วยๆ กัน
ผมเข้าใจดีว่ามีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่เป็นงบบรูณาการของกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ เกือบ 20 หน่วยที่มีกิจกรรมทำในพื้นที่ EEC กว่า 11,944.81 ล้านบาท แต่ส่วนมากก็เป็นโครงการตามภารกิจหลักของหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ แต่บังเอิญมีกิจกรรมที่ต้องทำในพื้นที่สามจังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งหลายกิจกรรมไม่ใช่กิจกรรมเชิงกลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนในพื้นที่ EEC โดยตรง
แม้แต่หน่วยงานในท้องถิ่นและจังหวัดเอง พอสอบถามถึงกิจกรรมโครงการในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ EEC ผมได้คำตอบจากผู้ชี้แจงชัดเจนว่ามีการทำจริง แต่เน้นในเรื่องสาธารณูปโภค เช่น ขยายถนนชุมชน ซ่อมถนน ซ่อมแซมหรือวางท่อประปา ฯลฯ ไม่ได้เป็นเจ้าภาพในภาพรวมของการพัฒนาชุมชนเพื่อรองรับ EEC อาจเป็นเพราะโครงการนี้เป็นโครงการ Top down ดังนั้น ถ้าส่วนกลางอยากได้ ส่วนกลางก็ต้องออกแรงเองในเรื่องชุมชนเอง ดังนั้น สกพอ. เลยต้องเหนื่อยกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ความน่าเป็นห่วงเรื่องนี้ ก็คือ ความพร้อมของชุมชนในการพัฒนาตนเองเพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งอนาคตของ EEC นั้นไม่ได้รับการตอบสนองอย่างบูรณาการ ตรงความคาดหวัง หรือเห็นได้ชัด
ปัจจุบันกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นกับชุมชน ที่ สกพอ. ทำอยู่นั้นมีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากกลุ่มในพื้นที่ เช่น โครงการเยาวชนอาสา โครงการ EEC Young Leader Camp โครงการพัฒนาเกษตรกรทันสมัย โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ โครงการขยะสะอาด หรือโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการสร้างโรงเรือนเพาะชำกล้าพืชและพันธ์ไม้ ฯลฯ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นบางส่วนที่ยังคงค้างอยู่ใน pipeline ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่กองทุน EEC เป็นผู้รับผิดชอบและทำได้ดีมาโดยตลอด
ทำให้ สกพอ. ต้องจัดสรรงบดำเนินงานบางส่วนมาให้เป็นเงินไปจุดประกาย โดยร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในพื้นที่เป็นผู้ทำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ดี ทั้งต่อชุมชนที่ได้มีส่วนร่วมและภาคเอกชนก็ได้รับความเชื่อมั่นจากชุมชนในการทำงานเพื่อสังคม แต่ก็อยู่ในวงจำกัด ทั้งข้อจำกัดงบประมาณ ความน่าสนใจที่องค์กรเอกชนมีต่อกิจกรรมนั้น ๆ และความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ
ในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชนใน EEC นั้น สกพอ.ควรเป็นหน่วยงานที่มองภาพรวมและกำหนดกิจกรรมต่างๆ ว่าอะไรควรทำในพื้นที่ใด เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อชุมชนและภาพลักษณ์ของ EEC ที่มีต่อชุมชนในรวมมากที่สุด
อย่างน้อยก็พอสบายใจเปราะหนึ่งว่า สกพอ. ตระหนักถึงความสำคัญของความเชื่อมั่นของชุมชนในพื้นที่ว่ามีผลต่อความสำเร็จของโครงการ EEC อย่างไร แต่ความล่าช้าทำให้คำถามว่า คนในพื้นที่ได้อะไรจาก EEC ก็ยังคงมีอยู่ไม่สิ้นสุด