เฝ้าระวัง ’น้ำหลาก-ดินถล่ม’ 30 จังหวัด
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ต้องเฝ้าระวัง ’น้ำหลาก-ดินถล่ม’ ใน 30 จังหวัด
รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำเริง แสงภู่วงค์ ระบุ จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตกและพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าในช่วงวันที่ 8 – 12 กันยายนนี้ มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่มรวม 30 จังหวัด
ประกอบด้วยภาคเหนือ รวม 11 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด คือ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ส่วนภาคตะวันออกมี 7 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และตราด ส่วนภาคตะวันตก มี 1 จังหวัด คือกาญจนบุรี
ส่วนการเฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 30 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสันหนอง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่งอน และอ่างเก็บน้ำน้ำแหง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 17 แห่งเช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย อ่างเก็บน้ำน้ำเลย อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น
ภาคตะวันออก จำนวน 10 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำศาลทราย อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน อ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด
ส่วนการเฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ภาคเหนือ คือบริเวณแม่น้ำน่าน แม่น้ำเข็ก และแม่น้ำ
แควน้อย แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำปิง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี รวมทั้งการเฝ้าระวังแม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเลย จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า
90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ และปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 90% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก