โควิดฉุด SDG ไทยถดถอย สภาพัฒน์ชงโมเดล ‘ล้มแล้วลุกไว’
“สศช.”เผยโควิดฉุด การพัฒนายั่งยืนตาม “เอสดีจี” ของไทย เสี่ยงไม่ได้ตามเป้าในปี 2573 แนะเร่งสร้างโมเดลล้มแล้วลุกไว รับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึิ้นในอนาคต
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์ “ก้าวพอดี 2564 ฟื้นตัวอย่างมันคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ถึงปัจจุบันมีแนวโน้มทำให้ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของไทยถดถอยหลายด้าน
รวมทั้งกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในปี 2573 ทั้งเป้าหมายด้านการขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
สำหรับความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยังยืนภายใต้ 17 เป้าหมาย พบว่า ไทยก้าวหน้าหลายประเด็นแม้ว่าจะมีคะแนนภาพรวมต่ำกว่าค่าเป้าหมาย โดยจากนี้ต้องเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายที่มีสถานะอยู่ระดับเสี่ยงทั้งเป้าหมายด้านการขจัดความหิวโหย ด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ด้านน้ำสะอาดและการสุขาภิบาล ด้านเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ด้านการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน ด้านทรัพยากรทางทะเล และด้านความสงบสุข ยุติธรรม และ สถาบันเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติได้ภายในปี 2573
“ผลการประเมินความก้าวหน้าทั้งหมดแม้ไทยจะมีความก้าวหน้าตามเป้าหมายต่างๆ ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่มี 9 เป้าหมายย่อยที่มีระดับการพัฒนาที่เป็นสีแดง หรือต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่สำเร็จ ถือเป็นสิ่งที่มีความท้าทายกับการดำเนินงานของไทยระยะต่อไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19”
ทั้งนี้ สศช.ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะต่อไป เริ่มจากการเร่งแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสถานการณ์ในเป้าหมายย่อยที่มีสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ และเป้าหมายย่อยที่มีสถานะการดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยง ทั้งการขจัดความยากจนทุกมิติ การเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม ความรุนแรงโดยเฉพาะต่อเด็กและสตรี การค้ามนุษย์ การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและปลอดภัย การจัดการขยะ การลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงินผิดกฎหมาย การเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการทุจริตคอร์รัปชัน
เช่นเดียวกับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย และเป็นแรงหนุนให้เป้าหมายย่อยอื่นประสบผลสำเร็จได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนจะเกื้อหนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการขจัดความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้
รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมสร้างทัศนคติและจิตสำนึกความยั่งยืนในสังคม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน และต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางและระบบประเมินผลให้มีมาตรฐานสากล นำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหลากหลายขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ออกแบบนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม
สุดท้าย คือ เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพราะบทเรียนจากการโควิด-19 ทำให้ เห็นถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้การขับเคลื่อนประเทศมีความมีความมั่นคงมากขึ้น โดยใช้หลักการล้มแล้วลุกไวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้การพัฒนาประเทศระยะต่อไป
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการมากที่สุด ได้แก่ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนของประเด็นความท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยมี 9 เป้าหมายย่อยที่มีสถานการณ์อยู่ต่ำกว่า 50% ของค่าเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่
1.การยุติความหิวโหยและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ
2.การยุติภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเปราะบาง
3.การมีระบบเกษตรอาหารยั่งยืน
4.การลดการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ
5.การลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน
6.การลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย มลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำและดิน
7.การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ
8.การลดมลพิษทางทะเล
9.การอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝัง