"คณิศ" เร่ง 4 เมกะโปรเจค ดันลงทุน 6.3 แสนล้านบาท
สกพอ. โชว์เม็ดเงินลงทุนอีอีซี ดัน 4 เมกะโปรเจค เดินเครื่อง 6.3 แสนล้านบาท จ่อลงนามสัญญาแหลมฉบัง 3 ภายใน ก.ย.นี้
การร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความคืบหน้าหลักจากได้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 276,561 ล้านบาท
2.โครงการสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 204,334 ล้านบาท
3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 79,200 ล้านบาท
4.โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 วงเงิน 73,305 ล้านบาท
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.วางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีต่อเนื่องทั้ง 4 โครงการ ที่ได้เอกชนร่วมลงทุนแล้วจะเร่งขับเคลื่อนในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยจะเปิดหน้าดินเริ่มงานก่อสร้างในช่วงปลายปี 2564 รวม 2 โครงการ คือ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
รวมทั้งในช่วงปลายปี 2564 จะเริ่มโรดโชว์แผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นหัวใจของอีอีซี ซึ่งขณะนี้ทราบว่า บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ที่ได้สิทธิการพัฒนานั้นอยู่ระหว่างทำแผนพัฒนา และมีการวางรูปแบบดีไซด์คอนเซ็ปต์สนามบินนี้อย่างน่าสนใจ เพราะทางทีมกำลังเสนอคอนเซ็ปต์ให้ที่นี่เป็นสนามบิน Entertainment and Art เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ขั้นตอนตรวจร่างสัญญาร่วมลงทุนโดยสำนักงานอัยการสูงสุด และจะเสนอร่างสัญญาแหลมฉบังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ โดยจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับกิจการร่วมค้า GPC ในเดือน ก.ย.นี้
“ตอนที่เราประมาณการณ์ไว้หลังสัญญาเสร็จ คาดว่าไม่เกิน 5 ปีท่าเรือแหลมฉบังจะเต็มขีดความสามารถ และการทำท่าเรือต้องใช้เวลา 3-5 ปี ดังนั้นถ้าไม่ทำและรอไว้จะไม่มีช่องส่งออกของประเทศ และเมื่อมีอีคอมเมิร์ซเข้ามา เราพัฒนาเส้นทางเชื่อมจีนและเพื่อนบ้าน ก็จะทำให้เพื่อนบ้านมาใช้ท่าเรือของเรามากขึ้น จึงเป็นที่มาของการวางแผนขยายท่าเรือแหลมฉบังให้ได้ และต้องควบคู่ไปกับการผลักดันระบบขนส่งทางรางให้ได้ 30% เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งทำท่าเรือแห่งนี้ให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติ จะทำให้ท่าเรือนี้ทำงานได้ 24 ชั่วโมง”
ทั้งนี้ ในอนาคตภาครัฐไม่มีกำลังมากแต่มีภารกิจที่ต้องดำเนินการมาก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องอาศัยเอกชนเข้ามาช่วย และประเทศไทยกำลังจะทำแผนที่ต้องใช้ความร่วมมือกับเอกชน
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีคืบหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนของโครงการที่ลงนามกับเอกชนคู่สัญญาแล้ว “โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3” ส่วนท่าเทียบเรือ F สรุปค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาด 20 ฟุต)
โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 ได้มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับ ตามที่ มติ ครม. ได้อนุมัติไว้และได้เจรจาผลตอบแทนเพิ่มเติม อาทิ เอกชนตกลงเพิ่มเงื่อนไขการสร้างท่าเรือ F2 ให้เร็วขึ้น หากแนวโน้มตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เอกชนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาทต่อไร่ต่อปี นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือ
“โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด คืบหน้า 86% รวม 5,521 ไร่ และส่งมอบส่วนแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายในเดือน ก.ย.2564
การดำเนินงานจะคู่ขนานกับการยกระดับ “แอร์พอร์ต เรลลิงก์” โฉมใหม่ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยขึ้น ซึ่งล่าสุดเอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างทางเดินเท้าและชั้นจำหน่ายตั๋ว ปรับปรุงสภาพกายภาพและการให้บริการ ได้แก่ พื้นผิวทางเท้า ระบบพื้นผิวต่างสัมผัสรองรับคนพิการทางการมองเห็น จุดจอดรับ-ส่ง ระบบป้ายแนะนำ ป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ ไฟส่องสว่าง ห้องน้ำ
นอกจากนี้ กพอ.มีมติแก้ปัญหาซ้อนทับโครงการรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทางและจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน แต่ระยะเวลาการก่อสร้างและมาตรฐานเทคนิค 2 โครงการไม่สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เอกชนคู่สัญญารับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน ใช้เส้นทางดอนเมืองบางซื่อได้ในเดือน ก.ค.2569 รวมทั้งเอกชนจะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด รวมงานทางวิ่งโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้เอกชนลงทุนล่วงหน้าและระหว่างการก่อสร้าง สกพอ.จะทยอยจ่ายเงินลงทุน
“โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) ขณะที่กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่ง 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้า 80.53%
ด้านงานสาธารณูปโภค สกพอ.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ส่วนบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานได้ลงนามกับบริษัทร่วมค้า BAFS-OR กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน โดย สกพอ.กำลังทำแผนแม่บทที่มีกิจกรรมสำคัญ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน