กพท. ชี้โควิดดันราคาตั๋วเครื่องบิน "แอร์เอเชีย" เบอร์ 1 ครองเส้นทาง
การบินพลเรือนฯ เผยค่าโดยสารสายการบินพุ่ง 50% หลังโควิดทำพิษ ความต้องการ - ความถี่เที่ยวบินลดลง ด้าน "ไทยแอร์เอเชีย" ยังครองแชมป์เส้นทางในประเทศ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศในช่วงไตรสมาส 2/2564 โดยรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท โดยพบว่า จากผลของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.2564 ทำให้ความต้องการเดินทางลดลงและสายการบินมีการลดจำนวนเที่ยวบิน ส่งผลให้การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลต่อสถานการณ์ค่าโดยสารภายในประเทศ ไตรมาส 2/2564
โดยหากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่าโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศไทยระหว่างช่วงไตรมาส 2/2564 กับไตรมาส 1/2564 พบว่าภาพรวมค่าโดยสารในไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2564 โดยค่าโดยสารสูงสุดเพิ่มขึ้นจำนวน 64 เส้นทาง ซึ่งเพิ่มโดยเฉลี่ย 50% และเส้นทางที่มีค่าโดยสารต่ำสุดเพิ่มขึ้นจำนวน 80 เส้นทาง ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 66%
ส่วนเส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุดลดลงมีจำนวน 35 เส้นทาง ซึ่งลดลงเฉลี่ย 19% และเส้นทางที่ค่าโดยสารต่ำสุดลดลงมีจำนวน 21 เส้นทาง ซึ่งลดลง 16% ในขณะที่เส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เปลี่ยนแปลงมีจำนวน 15 เส้นทาง และเส้นทางที่ค่าโดยสารต่ำสุดไม่เปลี่ยนแปลงมีจำนวน 18 เส้นทาง
ทั้งนี้ เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่ลดจำนวนเที่ยวบินให้บริการในช่วงเทศกาลสงกรานต์อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อุปทานโดยรวมลดลงจากไตรมาส 1/2564
อย่างไรก็ดี จากข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2564 พบว่าสายการบินที่ครองสัดส่วนเส้นทางบินภายในประเทศสูงสุด ได้แก่
- อันดับ 1 สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีสัดส่วนคิดเป็น 37%
- อันดับ 2 สายการบินนกแอร์ มีสัดส่วนเส้นทาง 20%
- อันดับ 3 สายการบินไทยสมายล์ มีสัดส่วนเส้นทาง 14%
- อันดับ 4 สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีสัดส่วนเส้นทาง 13%
- อันดับ 5 สายการบินไทยเวียตเจ็ทมีสัดส่วนเส้นทาง 9%
- อันดับ 6 สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีสัดส่วนเส้นทาง 7%
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย ครองสัดส่วนเส้นทางบินภายในประเทศสูงสุด เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีการเพิ่มบริการไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจากสัดส่วนข้างต้นจะเห็นได้ว่าสายการบินที่ให้บริการแบบต้นทุนต่ำมีสัดส่วนจำนวนเส้นทางภายในประเทศรวมกันถึง 79% ส่วนสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบมีสัดส่วนเส้นทางภายในประเทศ 21%
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2564 คาดว่าค่าโดยสารจะมีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและไม่มีวันหยุดเทศกาล ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกระจายทุกจังหวัดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ มสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับรัฐบาลมีการจำกัดการเดินทางในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรงและอัตราการฉีดวัคซีนยังน้อยกว่าเป้าหมายของรัฐบาล ดังนั้น สายการบินยังคงไม่สามารถปรับเพิ่มค่าโดยสารได้แม้ว่าจะมีการลดอุปทานลง