สศค.เล็งปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินหลังบังคับใช้2ปี
สศค.เล็งแก้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้และเริ่มเก็บภาษีในปี 2563 เพื่อนำไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อประชาชน เนื่องจาก กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงการจัดเก็บภาษีดังกล่าว สศค.จึงขอความร่วมมือผู้เสียภาษีให้ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ของสศค.ภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้
สำหรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 โดยเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาบนฐานมูลค่าทรัพย์สินอย่างแท้จริง แทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ในวันที่ 1 ม.ค.ของทุกปี
ในการคำนวณภาษีจะใช้มูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง (ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่กำหนดโดยกรมธนารักษ์) เป็นฐานภาษี โดยกำหนดอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
โดยแบ่งการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.การประกอบเกษตรกรรม 2. ที่อยู่อาศัย 3.อื่น ๆ นอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น และ 4.ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
ในการพิจารณาว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์ประเภทใด จะพิจารณาจากการใช้ประโยชน์ตามความเป็นจริงในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวคือ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ปลูกพืช ทำปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่การประกอบเกษตรกรรมหรืออยู่อาศัยเป็นการใช้ประโยชน์อื่น ส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้รกร้างเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
สำหรับขั้นตอนในการจัดเก็บภาษีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแจ้งประเมินภาษีโดยส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และกำหนดให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นหรือบรรเทาภาระภาษีบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น
1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จะได้รับการยกเว้นภาษีในปี 2563 – 2565 หลังจากนั้นจะได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในแต่ละเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท
2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีภาษี จะได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี 50 ล้านบาท และหากบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 ม.ค.ของปีภาษี จะได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี 10 ล้านบาท
3.ในช่วง 3 ปีแรก หากผู้เสียภาษีได้รับการประเมินภาษีในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียในปี 2562 ผู้เสียภาษีจะได้รับการบรรเทาการชำระภาษี โดยให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียในปี 2562 เหลือจำนวนเท่าใดให้ผู้เสียภาษีชำระภาษี ดังนี้
1.3.1 ปีที่ 1 (ปี 2563) 25% ของจำนวนภาษีที่เหลือ
1.3.2 ปีที่ 2 (ปี 2564) 50% ของจำนวนภาษีที่เหลือ
1.3.3 ปีที่ 3 (ปี 2565) 75% ของจำนวนภาษีที่เหลือ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง กระทรวงการคลังจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 และพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ตามลำดับ เพื่อลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 เพื่อบรรเทาภาระและผลกระทบต่อประชาชน