SCB มั่นใจปี 64 รายได้โต ธุรกิจเวลธ์หนุน-เดินหน้าลดต้นทุน

SCB มั่นใจปี 64 รายได้โต ธุรกิจเวลธ์หนุน-เดินหน้าลดต้นทุน

ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดรายได้ปี 64 เติบโตดีกว่าปี 63 เหตุรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจเวลธ์-ลงทุน-ประกัน หนุน พร้อมเดินหน้าลดต้นทุนต่อเนื่อง ผู้บริหารยันฐานทุนแข็งแกร่ง เพียงพอช่วยเหลือลูกค้าจากโควิด

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินรายได้และกำไรในปี 2564 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 แม้ยังถูกกระทบจากโควิด-19 แต่ธนาคารมีการปรับตัวในช่วงที่สินเชื่อไม่เติบโต โดยเน้นสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งเติบโตดีปีละประมาณ 20-30% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และธุรกิจประกันที่ทำร่วมกับพันธมิตร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลไกช่วยพยุงผลประกอบการปีนี้

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุน ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เช่น การลดจำนวนสาขาที่มีผู้ใช้บริการน้อยลง รวมถึงย้ายมาให้บริการลูกค้าบนช่องทางดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนได้

ขณะที่แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มองการกลับมาเติบโตของสินเชื่อขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ยังมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ มากกว่าการเติบโตของสินเชื่อในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ดี หากลูกค้ามีความต้องการใช้ เช่น สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อ ธนาคารก็พร้อมที่จะดำเนินการ

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยอมรับว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ตัวเลขหนี้ที่ธนาคารรายงานเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม คาดว่าจะช่วยบรรเทาตัวเลขหนี้ด้อยคุณภาพลงไป ส่งผลให้ตัวเลข NPL ในปัจจุบันอาจยังไม่สะท้อนเพราะลูกค้ายังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงาน NPL อยู่ที่ 3.79% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่ 3.68%

เมื่อสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อจากนี้ นายสารัชต์ กล่าวว่า ล่าสุด ธนาคารอยู่ระหว่างหารือกับ ธปท.ในการออกแบบกรอบโครงการ (Product Program) ตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ซึ่งรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือในแต่ละโครงการจะแตกต่างกันไปในแต่ละเซกเมนต์ของลูกค้าตามเงื่อนไขและโครงสร้างหนี้ที่แตกต่างกัน โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่งของส่วนทุน และมีกระสุนเพียงพอช่วยเหลือลูกค้า โดย ธปท.ได้มีการดูแล และให้ธนาคารทำแบบทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ผลปรากฎว่ายังมีกำลังเพียงพอช่วยเหลือลูกค้าในทุกเซกเมนต์

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือธนาคารจาก ธปท.เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างเต็มที่ เช่น มาตรการจัดแบ่งกลุ่มลูกหนี้เป็นสีฟ้า-ส้ม จะช่วยให้ธนาคารสามารถปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกค้าแบบเบ็ดเสร็จได้ในระยะยาว โดยไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง ซึ่งจะช่วยปลดล็อค และช่วยให้ธนาคารสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ต่อไป