โนมูระ พัฒนสิน เฟ้นหุ้น 8 กลุ่มรับอานิสงส์เงินบาทพลิกอ่อนค่า

โนมูระ พัฒนสิน เฟ้นหุ้น 8 กลุ่มรับอานิสงส์เงินบาทพลิกอ่อนค่า

บล.โนมูระ พัฒนสิน ชี้ 2 ปัจจัยหนุนเงินบาทพลิกอ่อนค่า หลังคาดกนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เฟ้นหุ้น 8 กลุ่ม รับอานิสงส์บาทอ่อน

ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-10 ก.ย.) พลิกกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง โดยปิดการซื้อขายช่วงปลายสัปดาห์ที่ 32.72 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่า 0.67% จากช่วงเปิดการซื้อขายต้นสัปดาห์ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า เงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าแบบเร่งตัว น่าจะเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.โอกาสที่ กนง. จะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หลังเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ส.ค.ลดลง 0.02% YoY จาก 0.45% ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าคาด และห่างจากกรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ระดับ 1-3% มาก

 

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) อ่อนลงเหลือ 0.07% YoY จาก0.14% ต่ำกว่าคาดเช่นกัน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งแรงกดดันในด้านเงินเฟ้อต่ำทำให้บล.โนมูระ พัฒนสิน ปรับลดคาการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 เหลือ 0.8% จากเดิม 1.5% และคงคาดการณ์ Core CPI ไว้ที่ 0.3% พร้อมทั้งคงคาดการณ์ว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 ก.ย. นี้

 

และ 2.แนวโน้มที่จะพิจารณาขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจากระดับ 60% ของจีดีพี โดยปัจจุบันอยู่ที่ 58%

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าแบบเร่งตัว กดดันเงินทุนไหลออก ถือเป็นปัจจัยถ่วงต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) จึงแนะนำธีมการลงทุนรับเงินบาทอ่อนค่า ดังนี้

 

โดยเงินบาทที่อ่อนค่าทุกๆ 1 บาท จะเป็นบวกต่อ

- กลุ่มเกษตรอาหาร : กำไรสุทธิเพิ่ม +3 ถึง +1% (TU, CPF, NER, XO, APURE)

- เครื่องดื่ม : SAPPE (+7 ถึง +10%)

- อาหารสัตว์ : ASIAN (+7%)

- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : กำไรสุทธิเพิ่ม +3 ถึง +2% (SVI, HANA, KCE)

- นิคมอุตสาหกรรม : AMATA

- กลุ่มวัสดุ :EPG +3%

- ถ่านหิน : BANPU ทุกๆ 1บาท หนุน +30 ล้านดอลลาร์

- การขยายเพดานหนี้บวกต่อกลุ่มอิงการลงทุน : STEC, CK, ITD, PYLON