คมนาคมดัน 5 โครงการลงทุน ผุดท่าเรือครุยส์รับการท่องเที่ยว
"อธิรัฐ" ร่วมถกคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ชู 5 โครงการลงทุนกรมเจ้าท่า ผุดท่าเรือสำราญรับการท่องเที่ยว
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานะของแผนดำเนินงาน 5 โครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการศึกษาวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมทุนการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
2.โครงการวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือ สำรวจออกแบบ Cruise Terminal ฝั่งอันดามัน
3.โครงการศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับ Cruise Terminal อ่าวไทยตอนบน
4.โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวและบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือเพื่อความปลอดภัยที่ท่าเทียบเรือฯ ปากคลองจิหลาด จังหวัดกระบี่
5.โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวและบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือเพื่อความปลอดภัยที่ท่าเทียบเรือฯ ท้องศาลา และท่าเทียบเรือหาดริ้น อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้รายงานถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สำเร็จแล้ว ประกอบด้วย โครงการควบคุมเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 ปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การสนับสนุนโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)
อีกทั้งยังได้บูรณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รื้อถอน 465 ขนำ สามารถส่งคืนพื้นที่ อ่าวบ้านดอน กว่า 2000,000 ไร่ แบ่งเป็น อำเภอเมืองสุราษฏร์ฯ 28,265 ไร่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จำนวน 23,378 ไร่ อำเภอท่าฉาง จำนวน 23,457 ไร่ และอำเภอไชยา 8,164 ไร่ และยังร่วมแก้ไขปัญหาการใช้ร่องน้ำเดินเรือในทะเลสาบสงขลา โดยได้แก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หารือร่วมหลายฝ่ายและสำรวจเปิดร่องน้ำสัญจรเร่งด่วน 2 ครั้ง
นายอธิรัฐ กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมากรมเจ้าท่ายังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างประมงพื้นบ้านกับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหากระทบต่อโครงการฯ ระยะที่ 3 แล้ว เกี่ยวกับการเรียกร้องการเยียวยาประมงพื้นบ้าน และจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหานี้เป็นโมเดลเยียวยาให้กับชาวประมงต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการให้ความช่วยเหลือกรณีเรือสันทัดสมุทรอับปาง บริเวณเกาะสมุย ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเก็บกู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ที่ประชุม นปท.ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ขับเคลื่อนอย่างรอบคอบ เข้มแข็งให้เป็นไปตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลอย่างเคร่งครัด