อินเด็กซ์ฯ ลุย 7 อีเวนท์ ขานรับเปิดประเทศ กระทุ้งรัฐ คลายล็อกธุรกิจ
ผู้ประกอบการฮึดต่อลมหายใจ "ธุรกิจอีเวนท์" หลังออกอาการโคม่า โควิดกระทบยาว ไร้เงากิจกรรมออนกราวด์ เจ้าพ่อ "อินเด็กซ์" ไม่ทิ้งลายครีเอทีฟ เดินหน้าจัด 7 โปรเจคใหม่ ตอบไลฟ์สไตล์คนรักกีฬา สร้างปรากฏการณ์คืนชีพอีเวนท์
“ธุรกิจอีเวนท์” ได้รับผลกระทบหนักมากไม่แพ้กับธุรกิจท่องเที่ยว เพราะกิจกรรมออนกราวด์ไม่สามารถจัดขึ้นได้เลย ทำให้เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้อง “ย่อส่วน” ขนาดกิจการจากใหญ่ เช่น มีทีมงาน 50-60 คน ต้องหดเหลือ 4-5 คน ส่วนซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่หรือซัพพลายเชน ทั้งให้บริการเช่าอุปกรณ์แสง สี เสียง เวที โปรเจคเตอร์ จอแอลอีดี ฯ ลำบากมากเพราะไร้งาน
ทว่า เจ้าพ่ออีเวนท์ ผู้ไม่เคยหยุดความคิดสร้างสรรค์ จะหยุดกิจกรรม รอให้โควิดคลี่คลาย คงไม่ได้ เพราะมีพนักงานต้องดูแล ธุรกิจต้องเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่ออยู่รอด ทำให้ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ต้องปรับตัวขนานใหญ่ งานบริการด้านการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งเซอร์วิส ซึ่งเป็นการจัดอีเวนท์ต่างๆขอลูกค้าไม่สามารถทำได้ จึงต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง เนรมิตอีเวนท์ของตัวเอง(Own project)ขึ้นมา ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างรัดกุม
การระบาดโควิด-19 ระลอกแรก งานอีเวนท์ต้องเบรกหมด กว่าจะกลับมาจัดงานได้เข้าโค้งสุดท้ายปี 2563 ทำให้บริษัทมีรายได้ทั้งปีเพียง 408 ล้านบาท หดตัว 69% จากรายได้ 1,326 ล้านบาท การปรับตัวในปีก่อน การเดินหน้าจัดอีเวนท์ระดับโลกอย่างการแข่งขันแบดมินตัน 3 ทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ เช่น TOYOTA Thailand Open และ HSBC BWF World Tour Finals 2020 ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา การจัดอีเวนท์ เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว Village of Illumination at Singha Park มีคนเข้าร่วมงาน 35,000 คน งานเมืองโบราณ ไลท์ เฟส มีคนเข้าร่วมงาน 25,000 ช่วยผลักดันให้รายได้ปี 2564 เริ่มฟื้นตัว ทั้งปีบริษัทตั้งเป้าไว้ 669 ล้านบาท เติบโต 64% จากปีก่อน
“ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา วิกฤติโควิด-19 กระทบรายได้อินเด็กซ์ฯ หายไปประมาณ 2,000 ล้านบาท รายได้ปัจจุบันทำให้เรากลับไปเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีอีกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม เลือดนักสู้ เจ้าพ่อไอเดียความคิดสร้างสรรค์ยังเต็มเปี่ยม ปี 2564 เกรียงไกร ทุ่มทุน 40 ล้านบาท ลุย 7 โปรเจคใหม่ อย่างเฟสติวัลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอินเด็กซ์ฯ และเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการประสบการณ์สดใหม่ เช่น เปิดลานสเก็ตรูปแบบใหม่ การแข่งวิ่งปลดปล่อยพลังระยะ 5 กิโลเมตร และครั้งแรกของการแข่งขันความเร็วเพียงแค่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีอุปกรณ์ที่มีล้อไม่ว่าจะเป็น ROLLER SKATE, SKATE BOARD หรือ Scooter One wheel สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ โดยงานจะยึดทำเล “เมืองโบราณ” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมีงาน “Forest of Illumination” ครั้งแรกกับประสบการณ์แสงสีบนผืนป่ายามค่ำคืน ณ คีรีมายา จังหวัดนครราชสีมา จัดระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 – 16 มกราคม 2565 จับกลุ่มเป้าหมายนักเดินทาง โดยอีเวนท์ดังกล่าวจะเปิดขายบัตรล่วงหน้า(Early Bird) ผ่าน www.villageofillumination.com และกิจกรรมส่งท้ายปีจะจัดงาน “Thailand International Lantern & Food Festival” เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2564 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น
“เราเลื่อนการจัดอีเวนท์ออกไป โดยทั้งหมดจะทยอยคิกออฟวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นตอบไลฟ์สไตล์ด้านกีฬา และจัดในสถานที่กลางแจ้งเพื่อลดความเสี่ยงของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่ามีความเครียดมากขึ้น การจัดอีเวนท์จึงมุ่งสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ เพื่อย้อมใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มายาวนาน”
สำหรับการจัดอีเวนท์ดังกล่าว ยังขานรับนโนบายการเปิดประเทศของรัฐบาลด้วย ซึ่งหากโควิดคลี่คลาย ธุรกิจที่จะฟื้นตัวกลับมาเร็ว คาดว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เพราะผู้คนอั้นการเดินทางมานาน อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่บริษัทไม่เห็นด้วยกับการบริหารจัดการโรคระบาด คือเมื่อประชาชนทยอยฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 มากขึ้น หากมีการเดินทางไม่ควรมีการกักตัว 14 วัน เหมือนตอนไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมถึงควรคลายล็อกดาวน์ธุรกิจต่างๆให้กลับดำเนินการตามปกติ
“รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดหรือมายด์เซ็ท เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ทุกอย่างควรกลับสู่วิถีปกติ”
อีเวนท์ในประเทศเดินหน้าจัด ต่างประเทศ อินเด็กซ์ฯ ยังลุยต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 1 ตุลาคมนี้ พร้อมเปิดพาวิลเลี่ยนประเทศไทยในงาน เวิลด์ เอ็กซ์โป ที่ดูไบ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความตะลึงให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ งานดังกล่าวจะเป็นสปริงบอร์ดให้บริษัทขยายตลาดสู่ตะวันออกกลางด้วย หลังพบว่าบาห์เรน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ฯ ล้วนมีศักยภาพ และการจัดอีเวนท์เน้นความพรีเมี่ยม ทุ่มเงินสูงเพื่อให้งานออกมาอลังการ ส่วนงานอีเวนท์ งานแสดงสินค้าในประเทศเมียนมาต้องเบรกไว้ เพื่อโฟกัสตลาดประเทศไทยและกัมพูชา
ส่วนแนวโน้มธุรกิจอีเวนท์ปีนี้ถึงปีหน้ายังไม่ฟื้นตัว 100% เบื้องต้นจะกลับมาเพียง 70-80% ตราบใดที่รัฐยังไม่ปรับนโยบายการบริหารจัดการโควิด