รัฐบาลใช้ 3.6 พันล้านพยุงจ้างงานท้องถิ่นถึงสิ้นปี หวังฟื้นจากโควิด-19
เตรียมเคาะแพคเกจจ้างงานระดับท้องถิ่นต่อเนื่อง อีก 4 เดือน ถึงสิ้นปีนี้รวม 3.6 พันล้านบาท มท.เตรียมเสนอขอ ใช้เงินกู้อีก2.7 พันล้าน จ้าง 2 หมื่น ใน 7,255 ตำบลทั่วประเทศ ครม.เคาะแล้ว 897 ล้านบาทจ้างงานในโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยต่อเนื่อง บรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้ผลักดันหลายโครงการที่เป็นการจ้างงานเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบยังมีรายได้ ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการจ้างงานเพื่อจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลในระดับตำบลในทุกมิติทั้ง 12 ด้าน เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลและสร้างแพลตฟอร์มให้หลายภาคส่วนสามารถเข้ามาดูข้อมูลแต่ละพื้นที่ เช่น แต่ละตำบลมีพืชเศรษฐกิจอะไรบ้าง มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจยังไงบ้าง ซึ่งมีการประมวลผลทุกเดือน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค.2563 - 30 ก.ย. 2564 โดยได้จ้างงานประชาชนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า จำนวน 7,255 ตำบล ตำบลละ 2 อัตรา รวม 14,510 อัตรา (ครอบคลุม 878 อำเภอ ในพื้นที่ 76 จังหวัด) อัตราจ้างเหมา 15,000 บาทต่อเดือน
อ่านข่าว : รัฐเตรียมต่ออายุโครงการจ้างงานบัณฑิต ป.ตรี 14,510 คน ใน 7,255 ตำบลทั่วปท.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวได้ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่หางานทำได้ยากในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด รวมถึงได้เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนผ่านมาตรการการจ้างงาน ผู้ร่วมโครงการเกิดสร้างทักษะ ประสบการณ์การทำงาน ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิต กระทรวงมหาดไทยจึงได้พิจารณาต่อโครงการฯ จากที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564 นี้ ออกไปอีก
เพื่อให้ประชาชนยังมีงานทำ และสานต่อการจัดทำฐานข้อมูลระดับตำบลให้เสร็จสมบูรณ์ เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้นกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องการต่ออายุโครงการไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสภาพัฒน์อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด เร็วๆนี้คาดว่าจะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป
“โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2564(ต.ค.63-ก.ย.64) จ้างประชาชนเก็บข้อมูลระดับตำบล 12 ด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานและกายภาพ ,การปกครองและความมั่นคง,สาธารณภัย,สาธารณสุข,ที่ดิน,การผังเมือง,ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,เศรษฐกิจ,เกษตรกรรม,อุตสาหกรรม,การบริการและการท่องเที่ยว และสังคมและการศึกษา รวมเป็นฐานข้อมูลแบบบูรณาการ (Data Base) สามารถใช้สำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ และเป็นฐานข้อมูลกลางที่เปิดเผยต่อสาธารณชน (Single opened-data system) ให้ทุกภาคส่วนของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมต่างๆ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันในข้อมูลชุดเดียวกัน”
ทั้งนี้การจ้างแรงงาน 14,510 อัตรา ใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 อยู่ภายใต้ภายใต้แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน งบประมาณ 2,701.87 ล้านบาท
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมครม.เห็นชอบผลการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ถึงโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยปรับแผนการดำเนินกิจกรรมการจ้างงานเพิ่มเติมทดแทนในพื้นที่ที่ยังจ้างได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย. – ธ.ค. 64 จำนวน 20,373 อัตราต่อเดือนและให้ กำกับดูแลการจ้างงานในแต่ละพื้นที่ภายใต้กรอบจำนวนเป้าหมายการจ้างงานที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์
ทั้งนี้จากการพิจารณาผลการดำเนินงาน เพื่อจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิต และนักศึกษา ณ เดือนก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ขอบเขตการดำเนินงานเป็นการจ้างงาน 6 หมื่นคนต่อเดือน โดยเป็นการจ้างงานในพื้นที่ 3,000 ตำบล ตำบลละ 20 คน จำนวน 9 ภูมิภาค เป็นระยะเวลา 12 เดือน รวมทั้งสิ้น 7.2 แสนอัตรา แบ่งสัดส่วนการจ้างงาน คือ บัณฑิตจบใหม่ 50% ในอัตรา 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน นักศึกษา 25% ในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน และประชาชนทั่วไป 25% ในอัตรา 9,000 บาทต่อเดือน
สำหรับผลการดำเนินการจนถึงเดือนก.ค.64 พบว่า มีจำนวนการจ้างงาน รวม 338,506 อัตรา โดยแบ่งเป็นประเภทบัณฑิตจบใหม่ 168,423 อัตรา นักศึกษา 83,577 อัตรา และประชาชนทั่วไป 86,506 อัตรา และมีอัตราที่ได้รับกรอบการจ้างงานตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินกู้ที่ยังไม่ได้จ้างงาน เนื่องจากในบางพื้นที่เป็นพื้นที่ห่างไกล และ มีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางของผู้เข้าร่วมโครงการ ทำให้การจ้างงานยังไม่เป็นตามเป้าหมาย โดยมีจำนวนการจ้างงานที่ยังไม่ได้จ้างในช่วงเดือนก.ย. – ธ.ค.64 คิดเป็น 20,373 อัตราต่อเดือน ทั้งบัณฑิตจบใหม่ 10,394 อัตรา นักศึกษา 5,356 อัตรา และประชาชนทั่วไป 4,623 อัตรา รวมเป็นเงิน 897 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงขอปรับแผนการจ้างงานเพิ่มทดแทนในพื้นที่ที่ยังจ้างงานได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ในชุมชนและพื้นที่รับผิดชอบในส่วนของโฮมไอโซเลชั่น หรือคอมมูนิวตี้ไอโซเลชั่น หรือภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ จำนวน 20,373 อัตราต่อเดือนโดยอาศัยหลักการว่า กรณีพื้นที่ที่มีข้อจำกัด ซึ่งไม่สามารถจ้างงานเพิ่มได้ให้เกลี่ยอัตราไปยังพื้นที่อื่นในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย หรือกรณีมหาวิทยาลัยไม่สามารถจ้างเพิ่มได้ให้เกลี่ยอัตราไปยังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียงตามแผนดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินกู้ต่อไป