TDRI จี้รัฐจ่าย ’เยียวยา’ รถไฟฟ้า ไม่ผลักภาระให้ประชาชน

TDRI จี้รัฐจ่าย ’เยียวยา’ รถไฟฟ้า ไม่ผลักภาระให้ประชาชน

จากการที่ BTS ประกาศยุติการทำโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันทุกประเภท โดยจะขายถึงวันที่ 30 กันยายนนี้เป็นวันสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนไปจากเดิม โปรโมชั่นดังกล่าวจึงไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เผยแพร่บทความโดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล และภัทราภรณ์ วัฒนผดุงศักดิ์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณเยียวยาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชน เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อได้โดยไม่ผลักภาระมาให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าโดยสาร หรือลดการให้บริการ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน

TDRI ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทั่วโลก เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศต่างมีมาตรการลดการเดินทาง ทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลง ส่งผลให้รายได้ลดลงเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ หรือเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

โดยรัฐบาลอังกฤษให้เงินเยียวยาหน่วยงานท้องถิ่นกว่า 3.4 พันล้านปอนด์ และให้ยืมเงินเพิ่มอีก 600 ล้านปอนด์ ส่วนบริษัทเอกชนได้รับเงินช่วยเหลือกว่า 7.4 พันล้านปอนด์ และยังเรียกร้องค่าธรรมเนียมการบริหารกิจการอีก 88.8 ล้านปอนด์

ส่วนกรณีของรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าจากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวด ทำให้ปริมาณผู้โดยสารในปี 2563 ลดเหลือ 124.9 ล้านคน รายได้จากค่าโดยสารลดเหลือ 3,715 ล้านบาท หรือลดลงถึง 45.5% แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากมาตรการป้องกันโควิดแต่อย่างใด

รถไฟฟ้าบีทีเอสจึงต้องประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือน เพื่อเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเที่ยวของการเดินรถ ทำให้ประชาชนแบกรับภาระค่าโดยสารเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงควรพิจารณางบประมาณเพื่อเยียวยาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

สำหรับข้อดีของตั๋วรายเดือนนอกจากทำให้อัตราค่าโดยสารลดลง ยังช่วยลดความแออัดบริเวณชานชลาชั้นจำหน่ายตั๋ว ลดเวลาในการต่อคิวซื้อตั๋วเที่ยวเดียวหน้าสถานี และยังจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะค่าโดยสารเฉลี่ยจะอยู่ที่ 26 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น

TDRI ยังระบุว่า รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ได้ค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าที่เป็นตารางค่าโดยสารร่วมทุกเส้นทางโดยไม่ต้องคิดค่าโดยสารแยกในแต่ละเส้นทาง เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น