EEC กับโอกาสและศักยภาพ อุตฯการแพทย์ครบวงจร : ตอนที่ 1

EEC กับโอกาสและศักยภาพ  อุตฯการแพทย์ครบวงจร : ตอนที่ 1

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความต้องการบริการสุขภาพที่มีมากขึนเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นโอกาสและศักยภาพหนึ่งในพื้นที่EEC

จากการประมาณของ Frost & Sullivan คาดว่าจะขยายตัว4.82% ในปี พ.ศ. 2562 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ จำนวนประชากรสูงอายุของโลก กระแสการส่งเสริมสุขภาพและรักษาสุขภาพ การพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีการพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งความรู้ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำ ให้ประชากรทั่วโลกมีอายุขัยเพิ่มขึ้น

รายงาน Global Healthcare Industry Outlook 2019 ของ Frost & Sullivan นั้นชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือHealth Tech เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรทั้งในปัจจุบันและอนาคต สอดคล้องกับข้อมูลของ PricewaterhouseCoopers (PwC) ที่ระบุว่า ระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์(Digital Health) เพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่นั้นมีความแตกต่างจากบริการด้านสุขภาพแบบดั้งเดิม (Traditional Model) ที่จะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยด้านสุขภาพ และเพิ่มการสื่อสารสองทางระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากกว่า ธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพสมัยใหม่จึงมีความคล่องตัวในการเข้าถึงผู้บริโภคสูง และสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ให้บริการได้มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์บนคลาวด์ (Cloud-Based Electronic Health Record)  รวมถึงระบบการปรึกษาแพทย์แบบออนไลน์แทนการไปพบแพทย์แบบปกติ และการสั่งยาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Prescription) สำหรับการยกระดับการสาธารณสุขของชุมชนห่างไกล เป็นต้น

ทั้งนี้ รายงานการวิเคราะห์ตลาดบริการสุขภาพของ Frost & Sullivan ในปี พ.ศ. 2562 ระบุว่าเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Digital Health) ของโลกในปี พ.ศ. 2563 ได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์เติบโตมากกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงในอาเซียนต่างก็ยอมรับและมีการนำนวัตกรรมด้าน Digital Health มาใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งก็มีการนำเทคโนโลยี Digital Health นี้ มาใช้บ้างแล้วเช่นกัน อาทิ นวัตกรรมการตรวจหาความผิดปกติหรือตรวจจับโรคระยะเริ่มต้น รวมถึงแอปพลิเคชันในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถจัดการดูแลสุขภาพตนเองได้ในระดับเบื้องต้น

มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมสุขภาพเอเชีย และออสเตรเลียเติบโตสูงสุด Deloitte ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก ได้คาดการณ์สถานการณ์ตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกในรายงาน 2019 Global Health Care Outlook ว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% จาก1.3 %ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559  สอดคล้องกับข้อมูลแนวโน้มการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั่วโลกของ World Bank ที่พบว่า รายจ่ายด้านสุขภาพทั่วโลกที่ผ่านมานั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจาก9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก ในปี พ.ศ.2543 เป็น10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลกในปี พ.ศ. 2558

 ทั้งนี้ ข้อมูลของ Deloitte ระบุว่าตลาดของอุตสาหกรรมการแพทย์ในภูมิภาคอเมริกาเหนือนั้น มีมูลค่าตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 47% ของมูลค่าตลาดโดยรวม รองลงมา คือ ตลาดภูมิภาคยุโรป,ภูมิภาคเอเชีย และออสเตรเลีย

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ระบุว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ของโลกมีมูลค่า 439 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีมูลค่า 50-60 พันล้านดอลลาร์ (จากการประเมินใน ปี พ.ศ. 2555-2556) ส่วนใหญ่บริการทางการแพทย์ที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นิยมใช้บริการได้แก่ ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ มะเร็งลดน้ำหนัก และตรวจเช็กสุขภาพ