บลจ.กรุงไทย ยันไร้ผลกระทบ ลงทุนบอนด์ เอเวอร์แกรนด์ เหตุถือน้อย0.14%
“มอร์นิ่งสตาร์” ชี้กองทุนไทยไร้ กระทบจาก เอเวอร์แกรนด์ ส่อผิดนัดชำระหนี้ หากมีลงทุนเป็นสัดส่วนน้อยในพอร์ต เชื่อบริหาารจัดการได้ “บลจ.กรุงไทย” รับมีเพียง 0.14% ของกองทุนไชน่าบอนด์ แทบไม่กระทบ ปรับพอร์ตได้ มองจีนยังน่าลงทุนระยะยาว
จากกรณีที่กลุ่มบริษัทเหิงต้า หรือไชน่าเอเวอร์แกรนด์(China Evergrande) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินท่วมสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท และชาวจีนกว่าร้อยคนบุกไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการ จนหวั่นกันว่าหากบริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาฯจีนแห่งนี้ล้มจะกระทบเป็นลูกโซ่ นำไปสู่“วิกฤติซับไพรม์เอเชีย”ได้
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทมอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนรวมไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ของ"เอเวอร์แกรนด์" หรือหากเข้าไปลงทุนคงไม่ได้เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตลงทุน ซึ่งการมีสัดส่วนลงทุนเป็นส่วนน้อยเชื่อมั่นว่า ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับพอร์ตลงทุนหลักของกองทุนได้แน่นอน
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย เปิดเผยว่า กองทุนไชน่าของบริษัทมีเข้าไปลงทุน สัดส่วน0.14% ของพอร์ต เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เพราะเป็นการลงทุนประเภทไฮยิลด์บอนด์ ขณะที่นโยบายการลงทุนต่างประเทศของกองทุนเลือกลงทุนในบอนด์กลุ่มระดับลงทุน ( investment grade) เท่านั้น ซึ่งทางผู้จัดการกองทุนคงจะมีการปรับสัดส่วนให้เหมาะสม ซึ่งประเมินว่าความเสี่ยงดังกล่าวต่อการลงทุนในบอนด์ยังจำกัด ส่วนใหญ่ยังเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอสังหาฯ มากกว่า ซึ่งไม่มีการลงทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทยังต้องจับตาความเสี่ยงดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มเซ็กเตอร์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ แม้ในระยะสั้นอาจมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุนในจีนจากปัจจัยลบต่างๆ แต่กองทุนมองภาพการลงทุนระยะยาว ยังเชื่อมั่นว่า จีนยังมีการเติบโตที่ดีและน่าลงทุนเมื่อตลาดปรับฐาน
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ บลจ.ยูโอบี เปิดเผยว่า บริษัทไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่ม “เอเวอร์แกรนด์”แต่อย่างใด ทั้งนี้เหตุผลหลักที่บริษัท ไม่เข้าลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวเนื่องจากผู้จัดการกองทุนประเมินว่า จากปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์โควิด -19กระทบในเซ็กเตอร์อสังหาฯประกอบกับกลุ่มบริษัทดังกล่าว มีการลงทุนในหลากหลายธุรกิจที่มีความซับซ้อนเกินควร จึงไม่ได้มีการพิจารณาเข้าไปลงทุน
เช่นเดียวกับรายงานข่าวจาก บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทไม่มีการเข้าไปลงทุน หุ้นกูู้ ตราสารหนี้ หรืออสังหา ฯ ของ "เอเวอร์แกรนด์" ที่มีปัญหาในจีนแต่อย่างใด ขณะที่รายงานข่าวจากบลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทมี1 กองเป็นกองทุนฟีดเดอร์ฟันด ที่ลงทุนตามดัชนี จึงมีการลงทุนใน "เอเวอร์แกรนด์"ตามน้ำหนักดัชนี Hang Seng china enterprises index แต่ในสัดส่วนที่น้อยมากๆ ไม่ถึง1% จึงไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด