พาณิชย์ เร่งเครื่องดันส่งออก มั่นใจ ปี 65 ยังโตแรง หนุนฟื้นวิกฤตโควิด
“จุรินทร์”ชี้ ส่งออกไทย ยังโตแรงต่อเนื่อง เชื่อ ปีนี้ตัวเลขโตทะลุ 2 หลักแน่ ชู กรอ.พาณิชย์ กุญแจสำคัญแก้ปัญหาส่งออก แนะผู้ส่งออกผลิตสินค้าคุณภาพ สร้างจุดแข็งแบร์นสินค้าไทย ฟันธงปีหน้าส่งออกไทยยังสดใส
ท่ามกลางผลกระทบของวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ 4 เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งประกอบด้วย การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก และการลงทุน มีเพียง การส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ยังทำหน้าที่ประคับประคองเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ เนื่องจากเครื่องยนต์อื่นขัดข้อง
วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ ส่งออก เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยตัวเดียวที่ยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง สร้างมูลค่าการไทยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน โดยการส่งออกมีสัดส่วน 50.83 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไทย ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ไม่ใช่แค่ตัวเลขฐานต่ำของปี 2563 แต่เป็นผลของ 2 ปัจจัยควบ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นแรงดึงในด้านดีมานด์จากภายนอกประเทศ และการผลักดันและแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นแรงหนุนจากภายใน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 ที่มาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ ส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศหยุดชะงัก ทำให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด มุ่งเชิงรุก เพื่อ “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” โดยเน้น
1.การทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการส่งออก
2. การใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ในทุกรูปแบบ เพื่อให้สามารถเดินหน้าภารกิจงานของกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมการส่งออกได้อย่างไม่สะดุดภายใต้ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19
3. การเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์คุณภาพสินค้าไทย
4. เร่งพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ ให้สามารถปรับตัวในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้งานเพื่อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ภายใต้บริบทของการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และได้มีการปรับเพิ่มกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง
5. การจับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต" และผลักดันแผนงานอาหารไทยอาหารโลก
6. การปรับแนวทางการทำงานของทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดให้เป็นนักการตลาด (เซลส์แมน) เชิงรุก และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างเซลส์แมนประเทศกับเซลส์แมนจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงโอกาสความต้องการสินค้าของตลาดโลกให้แก่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกจากทั่วทุกจังหวัดของประเทศ และ 7. การเจาะตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพของประเทศเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น โดยการส่งออกฟื้นตัวสูงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เป็นผลของการทำงานอย่างหนักของกระทรวงพาณิชย์อย่างแท้จริง
ที่สำคัญการทำงนภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ. พาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการส่งออกและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยที่ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่เป็นตัวหนุนสำคัญให้การส่งออกไทยขยายตัว คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้
ย้อนไปดูตัวเลขการส่งออกตั้งแต่เดือนมี.ค.ขยาย 8.32% เม.ย. ขยายตัว 13.07% พ.ค. ขยายตัว 41.59% มิ.ย.ขยายตัว 43.82%และ ก.ค. ขยายตัว20.26% ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค.2564) มีมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 16.20% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกขยายตัวที่ 21.47% ซึ่งสะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)
“เป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 % ขณะนี้เกินเป้าไปแล้ว 4 เท่า เพราะแค่ 7เดือนขยายตัวแล้ว 16.20% ซึ่งกระทรวงยังคงเป้าไว้เดิมไม่ปรับเป้าเพื่อป้องกันความสับสน โดยจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสูงขึ้น ซึ่งจากการคาดการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างและสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)ประเมินว่า คาดว่าตัวเลขการส่งออกทั้งปีน่าจะเกิน 2 หลักแน่นอน “นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ยังมองข้ามช็อตไปยังปี 65 โดยมั่นใจว่า การส่งออกของไทยยังจะขยายตัวดีแต่จะต้องทำงานหนักขึ้น เพราะจะต้องเจอกับคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาที่เร่งเครื่องการส่งออก ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบในเรื่องของราคาสินค้าที่ถูกกว่าประเทศไทย ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้าของไทยเพราะแบรนด์สินค้าไทยได้รับความน่าเชื่อถือจากทั่วโลกอยู่แล้ว จึงเป็นความได้เปรียบและเป็นจุดแข็งของสินค้าไทย
สำหรับแผนการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้คือ การใช้ยุทธศาสตร์ “นำ การผลิต” เชื่อมโยงโอกาสจากความต้องการของตลาดโลกให้กับผู้ส่งออกจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างเซลส์แมนประเทศ เซลส์แมนจังหวัด และภาคเอกชน โดยการผลักดันการส่งออกในภาพรวม จะเน้น รักษาตลาดเดิม อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปิดตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย อินเดีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย มองโกเลีย และฟื้นตลาดเก่าที่เสียไปให้กลับคืนมา โดยเฉพาะตะวันออกกลาง อาทิ อิรัก ซาอุดิอาระเบีย บาร์เรน พร้อมไปกับการเจาะตลาดเมืองรอง เพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยการสร้างพันธมิตรทางการค้า ผ่านการจัดทำ MOU ความร่วมมือ (Mini FTA) ที่ลงลึกระดับ เมือง/รัฐ/มณฑล ที่มีศักยภาพของประเทศเป้าหมาย
นอกจากนี้จะ เร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลก และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ทั้ง สินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึง อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และ สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และสินค้าเพื่อสุขภาพและอนามัย สินค้าอาหารแห่งอนาคต (future food) ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก คือ อาหารฟังก์ชั่น (functional food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food) อาหารทางการแพทย์ (medical food) และอาหารอินทรีย์ (organic food อาหารมังสวิรัติ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ สินค้าฮาลาล ทั้งอาหาร แฟชั่นและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่พัฒนามาจากวัสดุเหลือใช้และมีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม