DMT เล็งจับมือพันธมิตร ผุด ธุรกิจรีเทล สร้างการเติบโตใหม่
ทางยกระดับดอนเมือง จ่อผนึกพันธมิตรรุกธุรกิจใหม่ ทั้ง รีเทล-จุดชาร์ทรถอีวี-บริการขนส่งรอง หวังเพิ่มช่องทางรายได้เติบโต หลังเงินระดมทุนช่วยปล็ดล็อคสภาพคล่องการเงินแข็งแกร่ง !
กว่าภาครัฐจะเปิดประมูล 'โครงการทางด่วน' แต่ละเส้นทางใช้เวลานานมาก... ฉะนั้น ทิศทางการเติบโตของธุรกิจโครงการสัมปทานทางยกระดับ ที่ผ่านมาจึ่งมีอัตราการเติบโตล่าช้ามาก ประกอบกับเมื่อมีการเติบโตแต่ละครั้งจำต้องใช้เงินลงทุนโครงการมูลค่า 'มหาศาล' รวมทั้งใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่าจะสร้างรายได้เข้ามาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี
และหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีธุรกิจหลักในโครงการสัมปทานทางยกระดับ ที่มีประสบการณ์บริหาร ยาวนานกว่า 31 ปี คงต้องยกให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ผู้ประกอบธุรกิจบริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงจนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (อนุสรณ์สถานฯ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 'ตระกูลพานิชชีวะ' ที่เพิ่งนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564
'ศักดิ์ดา พรรณไวย' รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือกรุงเทพธุรกิจ' ว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสัมปทานทางยกระดับ (ทางด่วน) เกือบ 100% แบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ 1.ทางหลวงสัมปทานเดิม (Original Tollway) ตอนดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร และ 2.ทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ (Northern Extension) ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร
ทว่า หลังจากบริษัทมีการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ! เปรียบเหมือนเป็นการ 'ปลดล็อค' ฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านบริษัทได้ชำระหนี้ตามสัญญาทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 1,683.78 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้สิน 'ลดลง' อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันเหลือเงินกู้ระยะสั้น ประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 300 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีอัตราส่วน 'หนี้สินต่อทุน' (D/E) ปรับลดลงจากเดิม 0.40 เท่า เป็น 0.11 เท่า
ฉะนั้น เมื่อบริษัทมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนแล้ว ก็พร้อมที่จะสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ! ด้วยแผนธุรกิจระยะ 1-3 ปีข้างหน้า (2564-2566) ใน 2 ธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจประมูลเส้นทางด่วน 2.ธุรกิจเกี่ยวเนื่องทางด่วน ซึ่งพยายามดำเนินการควบคู่กัน โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสขยาย 'ธุรกิจใหม่' (New Business) ด้วยนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมพัฒนาโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ซึ่งบริษัทศึกษาและวางแผนเข้าร่วมประมูลในโครงการที่มีศักยภาพรวมถึงได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของผลการดำเนินงานอย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับ ปัจจุบันบริษัทสนใจประมูล 'โครงการพัฒนาจุดพักรถริมทางหลวง' หรือ Rest Area ของกรมทางหลวงจำนวน 3 เส้นทาง คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพ-บ้านฉาง ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนที่จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP จำนวน 2 แห่ง ที่ศรีราชาและบางละมุง คาดว่าจะเปิดประมูลเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2564 และแผนเปิดบริการปี 2566
2. โครงการจุดพักรถริมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา คาดจะเปิดประมูลปลายปีนี้ ซึ่งจะเปิดบริการปี 2566 และ3.โครงการจุดพักรถริมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะมีการเปิดประมูลในปี 2565 เปิดให้บริการ 2567
โดยเมื่อ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้เชิญเอกชนผู้สนใจเข้าประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) สำหรับโครงการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพ-บ้านฉาง ซึ่งวันนั้นมีผู้ประกอบการเอกชนที่ทำ 'ธุรกิจรีเทล' (ค้าปลีก) สนใจร่วมเข้าฟัง 500 ราย มีทั้งที่เป็นรายใหญ่ (บิ๊กเนม) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และรีเทลรายย่อย
ทั้งนี้ บริษัทเปิดกว้างร่วมมือกับ 'พันธมิตรในประเทศและต่างชาติ' ในการเข้าประมูลโครงการพัฒนาจุดพักรถริมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันก็มีการคุยกันหลายราย นอกเหนือจากที่บริษัทมีพันธมิตร คือ บริษัท เครือเจริญโภคภัทฑ์ จำกัด (ซีพี) และ บริษัท ไทยรุ่งเรือง-เคอรี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และเป็นพันธมิตร ที่อนาคตบริษัทสนใจเป็น Strategic Partner ในโครงการใหม่ๆ
โดยมองว่าอนาคตจุดพักรถริมทางจะไม่มีแค่สถานีเติมน้ำมันแล้ว แต่จะเป็นโมเดลที่พัฒนาเป็นแหล่งชอปปิ้ง หรือ แม้แต่การนำสินค้าที่เป็นโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป มาขายได้ และในอนาคตรัฐมีโครงการมอเตอร์เวย์อีกกว่า 20 เส้นทาง ระยะทางเกือบ 6,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น โครงการต่างๆ ก็ต้องมีพื้นที่พัฒนาจุดพักรถริมทางอีกหลายแห่ง ดังนั้น ถือเป็นโอกาสขยายธุรกิจ ซึ่งตัวโมเดลแบบนี้มีหลายประเทศทำกัน และที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือ ประเทศญี่ปุ่น
อีกทั้งยังสนใจเข้าร่วมพัฒนา 'โครงข่ายระบบขนส่งรอง' (Feeder) โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง หลังจากเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวบริษัทได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยศึกษาการใช้ระบบ Smart Feeder มาให้บริการ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะใช้โมเดลไหน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกำลังศึกษาระบบรถโดยสารขนาดตั้งแต่ EV Mini Bus , EV Full Size Bus , และ Tram Bus เป็นต้น
สอดรับกับบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาการให้บริการช่วยเหลือสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเพื่อร่วมกันให้บริการแก่รถยนต์ไฟฟ้า เช่น การหาอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า ทั้งรูปแบบเคลื่อนที่สำหรับชาร์จไฟฟ้าชั่วคราวแบบ Quick Charge และการเคลื่อนย้ายรถยนต์ไฟฟ้าไปยังสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ให้บริการโดยพันธมิตร
รวมถึงการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าของบริษัท สำหรับช่วยเหลือยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป และองค์ความรู้เหล่านี้บริษัทก็จะใช้ในการวางแผนปฏิบัติการ และพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นไป อีกทั้งสามารถต่อยอดไปเป็นผู้ให้บริการสำหรับทางด่วนสายอื่นๆ ในอนาคตที่ต้องดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไปอย่างแน่นอน
สำหรับการเติบโต 'ธุรกิจหลัก' (Core Business) โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (M5) ระยะทาง 18 กม. ซึ่งจะไปเชื่อมต่อโครงการมอเตอร์เวย์โคราช ถือเป็นโครงการหน้าบ้านที่มีลักษณะคล้ายโทลล์เวย์ ซึ่งบริษัทมีความคุ้นเคย ดังนั้น จึงมีศักยภาพในการเสนอบริการที่ดีให้กับภาครัฐและประชาชน คาดจะเปิดประมูลไตรมาส 1 ปี 2565
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ (M8) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในแต่ละโครงการ ขึ้นอยู่กับทีโออาร์ที่จะเป็นตัวกำหนดการ แต่บริษัทมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์แล้ว โดยในขณะนี้บริษัทจะเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ทั้งเรื่องบุคลากรและเงินลงทุน
ท้ายสุด 'ศักดิ์ดา' ทิ้งท้ายไว้ว่า กรณีรัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และลดความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 จะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้