เปิด 10 อันดับ ‘กองทุน RMF Equity’ ผลตอบแทนสูงสุด ในรอบ 1 ปี
เปิด 10 อันดับ ‘กองทุน RMF Equity’ ผลตอบแทนสูงสุด ในรอบ 1 ปี กองทุน ASP-VETRMF มีผลตอบแทนนำโด่ง 66.76% “มอร์นิ่งสตาร์”ชี้ กองทุน RMF หุ้นต่างประเทศมีเงินไหลเข้าทำนิวไฮรอบ8เดือนที่8.5พันล้าน AUMพุ่ง19.1% แนะทยอยลงทุนในช่วงวิกฤติ สะสมความมั่งคั่งรับวัยเกษียณ-ลดหย่อนภาษี
เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีกันแล้วและสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ยังดูมีความไม่แน่นอนสูง แต่การลงทุนของเรานั้นคงหยุดไม่ได้ โดยเฉพาะ"การลงทุนเพื่ออนาคตและลดหย่อนภาษี" นั่นคือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
แน่นอนว่าแม้ในช่วงวิกฤติ "การลงทุนกองทุน RMF" ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องคำนึงถึงการปรับพอร์ตสม่ำเสมอ เพราะในทุกวิกฤติยังเป็นโอกาสของการลงทุนเสมอ และผู้ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถทยอยเข้าลงทุนบางส่วนได้เช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารทุนหรือ"หุ้น"ที่จะช่วยสะสมความมั่นคั่งให้กับเรามีเงินเพียงพอไว้ใช้ในยาวเกษียณได้ด้วย
ลองมาดูว่าในรอบ1ปีมานี้ "กองทุน RMF Equity" ไหนบ้าง ที่มีความโดดเด่นมีผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับ โดยข้อมูลจาก"มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) ณ เดือน ส.ค.2564 มีดังนี้
1 . กองทุนเปิด แอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท เพื่อการเลี้ยงชีพ ( ASP-VETRMF ) มีผลตอบแทน 66.76%
2. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอินเดียมิดแคปเพื่อการเลี้ยงชีพ ( B-INDIAMRMF) มีผลตอบแทน 61.79%
3. กองทุนเปิดกรุงศรีอินเดียอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFINDIARMF) มีผลตอบแทน 45.51%
4. กองทุนเปิดเค Mid Small Cap หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KMSRMF) มีผลตอบแทน 42.06%
5. กองทุนเปิดกรุงศรียุโรปอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFEURORMF) มีผลตอบแทน 40.57%
6. กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KEURMF) มีผลตอบแทน 40.03%
7. กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ ( B- INNOTECHRMF) มีผลตอบแทน 39.06%
8. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF) มีผลตอบแทน 37.92%
9.กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGTECHRMF) มีผลตอบแทน 37.81%
10.กองทุนเปิด ทิสโก้ ไฮ ดิวิเดนด์ หุ้นทุน เพื่อการเลี้ยงชีพ ( THDRMF) มีผลตอบแทน 37.32%
เงินไหลเข้ากองทุนRMF Equity ทำนิวไฮรอบ8เดือน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทั้งหมด 3.56 แสนล้านบาท มีกองทุนประเภทตราสารทุน หรือ RMF Equity เป็นสัดส่วนหลักด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 1.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1% จากสิ้นปี 2563 ที่ระดับ 1.5 แสนล้านบาท
โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิรอบ 8 เดือนรวม 8.5 พันล้านบาท หรือเป็นสถิติใหม่สำหรับรอบ 8 เดือนเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งมีผลมาจากแรงซื้อกองทุนหุ้นต่างประเทศเช่น หุ้นจีน หุ้นทั่วโลก หรือหุ้นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างคึกคักในช่วงไตรมาสแรกของปี ทำให้ในปีนี้กองทุน 3 กลุ่มดังกล่าวมีเงินไหลเข้าสุทธิรวมระดับหมื่นล้าน ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยยังเป็นเม็ดเงินขาออกราว 5 พันล้านบาท
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในแง่ของผลตอบแทนในรอบ 1 ปี กองทุนหุ้นต่างประเทศหลายกลุ่มสร้างผลตอบแทนได้สูง กองทุนหุ้นเวียดนามจาก บลจ.แอสเซทพลัส (ASP-VIETRMF) มีผลตอบแทนสูงสุด 66.8% ตามมาด้วยกองทุนหุ้นอินเดียจาก บลจ.บัวหลวงและ บลจ.กรุงศรี ที่ 61.8% และ 45.5% ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนในประเทศมีกองทุน KMSRMF จาก บลจ.กสิกรไทย ที่มีผลตอบแทน 42.1% จากการลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาการลงทุนหุ้นขนาดเล็กสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่เกือบ 10%
นอกจากนี้หากพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ3ปี 5ปี และ10ปีด้วยแล้ว จะพบว่า ในรอบ 3 ปีและ 5 ปี กองทุน RMF Equity ที่ติดอันดับ 10 กองทุนผลตอบแทนสูงสุดล้วนแต่ยังคงเป็นการลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้นเทคโนโลยี หุ้นทั่วโลก หุ้นยุโรป หรือหุ้นสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของตลาดและมูลค่าการลงทุนในช่วงของการระบาดโควิด-19 และแสดงการสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนในประเทศ
ขณะที่ในรอบ 10 ปีนั้นจะเป็นรายชื่อกองทุนในประเทศทั้งหมด นำโดยกองทุน KKP EQRMF ที่ 8.2% ต่อปี จาก บลจ.เกียรตินาคินภัทร ตามมาด้วยกองทุน TEGRMF-A จาก บลจ.ทิสโก้ ที่ 7.9% ต่อปี และกองทุน IN-RMF จาก บลจ.บัวหลวงที่ 7.8% ต่อปี
สาเหตุที่เป็นรายชื่อกองทุนในประเทศทั้งหมดนั้นเนื่องจากกองทุน RMF ในยุดแรก ๆ นั้นเป็นการลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมด ทำให้ยังไม่มีผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนต่างประเทศให้เปรียบเทียบมากนัก ซึ่งกองทุน RMF หุ้นต่างประเทศนั้นเริ่มมีการเปิดขายมากขึ้นในช่วง 7-8 ปีที่แล้วเป็นต้นมา โดยกองทุน RMF Equity ที่เป็นการลงทุนต่างประเทศกองแรกคือ กองทุน TCIRMF จากบลจ.ทิสโก้ โดยรอบ 10 ปี มีผลตอบแทนที่ 3.2% ต่อปี
"ชญานี" แนะนำว่า จากข้อมูลแม้ว่าจะยังไม่สามารถเปรียบเทียบการลงทุน RMF Equity ที่ลงทุนในหุ้นไทยกับต่างประเทศในระยะยาวได้อย่างชัดเจน
แต่ผลตอบแทนระยะ 10 ปีของกองทุน RMF Equity ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 3%-8% ต่อปี ยังสามารถเป็นการลงทุนเพื่อวัยเกษียณที่ดีได้หากผู้ลงทุนมีการวางแผนการเงินการลงทุนระยะยาวโดยจัดสัดส่วนประเภทตราสารให้เหมาะสมตามช่วงอายุ
นอกจากนี้การลงทุนในกองทุน RMF มีเรื่องที่ต้องระวังกัน!! นั่นคือ หากจะปรับพอร์ต ควรพิจารณาว่าจะทำผิดเงื่อนไขสรรพากรหรือไม่
เนื่องจาการลงทุนในกองทุน RMF เราจะได้รับสิทธิ "ลดหย่อนภาษี" ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ดังนี้
1 . สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
2. เมื่อนับรวมกับ กองทุนเพื่อการออม (SSF)ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity
Insurance) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(Provident Fund) และกองทุนบำเหน็จ
บำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์
ครูโรงเรียนเอกชน (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน
500,000 บาท
3.ต้องถืออย่างน้อย 5 ปีและขายได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์
ดังนั้น ถ้ายังถือไม่ครบตามเงื่อนไข ให้ทำการ
"สับเปลี่ยน" ห้ามสั่งขายเด็ดขาด ไม่งั้นเราจะ
ต้อง "คืนภาษี" และมี "ค่าปรับ" ตามมา