หนุนรัฐตั้งกองทุนฯ ต่อลมหายใจแท็กซี่
รถแท็กซี่ กว่า 300 คัน ที่ถูกจอดไว้ ในอู่สหกรณ์แท็กซี่ แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหาคร กลายเป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ของพนักงานขับรถ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี ทำให้ไม่มีผู้โดยสาร รายได้ไม่พอค่าเช่าค่างวดรถ
นี่เป็นวิธีที่พนักงานสหกรณ์แท็กซี่คิดไอเดียขึ้นมา เพื่อหารายได้ เลี้ยงตัวเองและครอบครัว จากรถคันละเป็นล้าน ที่เคยขับไปรับผู้โดยสารตอนนี้บริเวณหลังคา เต็มพืชผัก สวนครัว นานาชนิด ซึ่งอีกในมุมหนึ่งคือการสะท้อนว่า เขาหมดความหวังที่จะทำอาชีพขับแท็กซี่ต่อไป
ฐาปกรณ์ อัศวเลิศกุล ที่ปรึกษาสหกรณ์บวรและราชพฤกษ์แท็กซี่ บอกว่า รถแท็กซี่เหล่านี้ถูกจอดไว้ตั้งแต่สมาชิกผู้ขับรถแท็กซี่เริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด -19 จากเดิม สหกรณ์ทั้งหมดที่มีรถกว่า 5,000-6,000 คัน แต่ตอนนี้เหลือขับอยู่บนท้องถนนไม่ถึง 1,000 คัน และคนขับที่ ยังยืนหยัดสู้ในเศรษฐกิจที่แทบจะไปต่อไม่ไหวมีเพียงไม่ถึง 300- 400 คน
ที่ผ่านมาเคยร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงแรงงานเคยให้ถุงยังชีพช่วยเหลือคนขับแต่ไม่เพียงพอ ขณะที่สหกรณ์เองได้ลดค่าเช่า มาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ 500 บาทจนขณะนี้เหลือเพียง 300 บาท แต่ในสภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ผู้คนไม่ใช้บริการและยังต้องมีค่าซ่อมบำรุงอื่นๆ ผู้ขับหลายรายทยอยคืนรถ ค่าเลี้ยงชีพไม่เพียงพอ จึงปลูกผักประทังกันไปก่อน
ส่วนทางที่พอจะพยุงคนขับแท็กซี่และสหกรณ์ให้รอดได้นั้น คงต้องหวังพึ่งภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะดอกเบี้ยไฟแนนซ์ที่สูงถึง 9 บาท 7 สตางค์ และค่าก๊าซ ที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตั้งกองทุน เพื่อนำรถที่เป็นหนี้บริษัทไฟแนนซ์ทั้งหมดออกมา และหาธนาคารที่ดอกเบี้ยถูกกว่าเดิม ดังนั้น ทางเดียวคือรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือให้ต้นทุนถูกลงและดลใจให้ผู้ขับกลับมา ไม่เช่นนั้นสหกรณ์แท็กซี่อาจหมดทางรอด รถที่เคยขับรับส่งผู้โดยสารจะกลายเป็นเพียงพื้นที่ปลูกผัก และอาจปิดกิจการไปในที่สุด