ออกาไนเซอร์ กระทุ้งรัฐ คลายล็อกอีเวนท์ 15 ต.ค.
“ธุรกิจอีเวนท์” ถูกล็อกดาวน์ ทำกิจกรรมไม่ได้เกือบ 2 ปี หรือจัดงานภายใต้ข้อจำกัดการดูแลความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน กระเทือนผู้ประกอบการ
ล่าสุด รัฐบาลเคาท์ดาวน์การเปิดประเทศ ผู้ประกอบการคาดหวังให้ปลดล็อกดาวน์ธุรกิจอีเวนท์ตั้งแต่ 15 ตุลาคมนี้ ย้ำมาตรการดูแลป้องกันโรคระบาดเข้มข้น จับตาโควิดคลี่คลาย อีเวนท์ฟื้นตัวแตะ “หมื่นล้าน"
นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือซีเอ็มโอ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายเปิดประเทศ รวมถึงเปิดแบงค็อก แซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นปัจจัยบวกในการกระตุุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ รวมถึงประชาชนจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ หลังจากที่ผ่านมาทุกย่างต้องหยุดชะงักเป็นเวลานาน แต่การเปิดประเทศยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ระบาดอย่างต่อเนื่อง
++วอนรัฐปลดล็อกอีเวนท์รับเปิดประเทศ
ทั้งนี้ ธุรกิจอีเวนท์ หนึ่งในหมวดที่ได้รับผลกระทบอย่างยาวนานเกือบ 2 ปี จึงวอนหน่วยงานภาครัฐพิจารณาคลายล็อกดาวน์ ให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆได้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมนี้ หากไม่ทัน ควรไม่เกิน 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ หากเปิดเมืองและคลายล็อกธุรกิจอีเวนท์ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกค้าพร้อมจัดงานที่มีคนเขาร่วมระดับ 50 คน หรือไม่เกิน 200 คน โดยเงื่อนทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือต้องตรวจชุดเอทีเคก่อนเข้างาน ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนประเภทอีเวนท์ที่ควรได้รับการปลดล็อกก่อน คือการจัดเอ็กซิบิชั่น งานแฟร์ รวมถึงการประชุมต่างๆ เพราะผู้เข้าร่วมงานใส่หน้ากากอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการเว้นระยะห่างตามเกณฑ์ เช่น พื้นที่ 4 ตารางเมตร(ตร.ม.) หรือ จัดที่นั่ง 2 ที่ เว้น 1 ที่ เป็นต้น ซึ่งในการปลดล็อกธุรกิจอีเวนท์ควรเป็นการทยอยดำเนินการ เพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างมีเถสียรภาพ แน่นอนมากขึ้น และการเปิดหมดอาจมีความเสี่ยง
++เคาะเปิดศูนย์ประชุม จัดเลี้ยง
“หากขอรัฐบาลได้ อยากให้คลายธุรกิจอีเวนท์ อนุญาตให้เปิดศูนย์ประชุม ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรมได้ ตั้งแต่ 15 ตุลาคม หรือไม่ควรเกิน 1 พฤศจิกายน ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นบางธุรกิจเปิดบริการได้ อีเวนท์ก็ทำได้เช่นกัน และเรามีมาตรการดูแลพนักงาน ลูกค้าอย่างเข้มข้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ต้องทำงาน จัดอีเวน์ออนไลน์ในสตูดิโอ พนักงานซีเอ็มโอ 300 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนที่เข้าสตูดิโอต้องตรวจเอทีเค”
นายเสริมคุณ กล่าวอีกว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงธุรกิจอีเวนท์ได้รับผลกระทบ แต่ในห่วงโซ่หรือซัพพลายเชนมีผู้ประกอบการเดือดร้อนจำนวนมาก โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ให้บริการเช่าอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แสง เสียง จอแอลอีดี โปรเจคเตอร์ ฯ บางรายไม่ได้ปรับตัวออนไลน์ต้องหยุดกิจการลง และยากประเมินการฟื้นตัวกลับมา รวมถึงธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับไม่สามารถหารายได้ได้
“รัฐควรเห็นอีเวนท์เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย เพราะในระบบเกี่ยวข้องกับคนทำงานนับแสน เพราะกิจกรรมเชื่อมทั้งห้องจัดเลี้ยง โรงแรม งานอีเวนท์ส่วนตัว งานแต่งงาน งานบันเทิงต่างๆ”
ก่อนโรคโควิดระบาด ธุรกิจอีเวนท์มูลค่าหลัก “หมื่นล้านบาท” หากสถานการณ์คลี่คลาย คาดการณ์ปลายปีจะเห็นการฟื้นตัว ปีหน้ามูลค่าจะกลับมาระดับหมื่นล้านบาทได้ ส่วนซีเอ็มโอ จากรายได้ 1,300 ล้านบาท ผลกระทบโควิดทำให้รายได้ลดเหลือ 700 ล้านบาท ขณะที่การปรับตัวหันไปจัดอีเวนท์ออนไลน์ แต่มูลค่างานลดลง 50% ตามต้นทุน โดยคาดหวังปีหน้าจะพลิกรายได้กลับมาแตะ 1,000 ล้านบาท หลังจากมีลูกค้าใหม่เข้ามาเติมพอร์ตโฟลิโอ
++ชงนายกฯ หนุนหน่วยงานรัฐจัดอีเวนท์ ผันงบฟื้นศรษฐกิจ
ด้านนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน(อีเอ็มเอ) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการอีเวนท์ ต้องการให้รัฐคลายล็อกดาวน์ธุรกิจพร้อมกับการเปิดประเทศ และเปิดแบงค็อกแซนด์บ็อกซ์ โดยอีเวนท์ประเภทธุรกิจต่อธุรกิจหรือบีทูบี ควรได้รับอนุญาตจัดก่อน เพราะมีการนัดหมายงานล่วงหน้า จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน และตรวจสอบได้ว่าใครฉีดวัคซีนแล้ว
ทั้งนี้ การจัดอีเวนท์แบบบีทูบี ยังช่วยกระตุ้นการลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจไทยได้เร็ว ที่ผ่านมาพบอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารต้องการเข้ามาสตาร์ทธุรกิจ หลังถูกแช่แข็งเกือบ 2 ปี รวมถึงธุรกิจที่เป็น S-Curve ใหม่ของไทย
“อยากให้ผ่อนปรนการจัดอีเวนท์ให้เร็ว ตั้งแต่ 15 ตุลาคมนี้ เริ่มที่บีทูบีก่อน เพราะธุรกิจถูกแช่แข็งมานาน จึงมีนักลงทุนต้องการเดินทางมาพบปะเจรจาเพื่อสตาร์ทงานที่ริเริ่มไว้ ส่วนงานจับกลุ่มลูกค้าทั่วไปหรือบีทูซีทยอยจัดภายใน 1 พฤศจิกายน ซึ่งการรองรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว รัฐเป็นส่วนหน้่าในการกระตุ้นการลงทุน การใช้จ่าย ล้วนต้องจัดอีเวนท์ในการดึงคน หากปลดล็อกให้จัดอีเวนท์ได้อาจจำกัดผู้เข้าร่วมงาน 200-300 คน ”
นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐ หรือนายกรัฐมนตรีออกประกาศ รณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆของรัฐลุกขึ้นจัดอีเวนท์นำร่อง ซึ่งทุกหน่วยงานมีงบประมาณเพื่อจัดอีเวนท์ออนกราวด์ และออนไลน์อยู่แล้ว เป็นปัจจัยช่วยฟื้นธุรกิจอีวนท์ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 อีเวนท์ไม่สามารถจัดได้เลย หากคลายล็อกดาวน์ธุรกิจ การฟื้นตัวอาจกลับมาเพียง 20% ท่านั้น ส่วนปีหน้าคาดฟื้นตัวแตะหมื่่นล้านบาท หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์อีก
++เอกชนคิกออฟอีเวนท์รับไฮซีซั่น
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยฉีดวัคซีนกันมากขึ้น จึงต้องการให้รัฐปรับมาตรการป้องกันโรคระบาด ลดการกักตัวของนักเดินทางจากต่างประเทศเหลือ 3 วัน การคลายล็อกดาวน์ธุรกิจอื่นๆ ที่ยังเข้มงวดอยู่
ขณะที่อินเด็กซ์ ฯ เดินหน้าจัดอีเวนท์ 7 งาน รับการเปิดประเทศ โดยเน้นกิจกรรมด้านกีฬา เจาะนักท่องเที่ยวชาวไทย และเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ลดความเสี่ยงของโรคระบาด
นายจตุพร สุคันธมาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทู เอ็กซิบิท จำกัด กล่าวว่า ไตรมาส 4 แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆทยอยจัดงานอีเวนท์ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเปิดตัวสินค้า กระตุ้นกำลังซื้อและยอดขายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่น และหากไม่เดินหน้าทำแคมเปญการตลาดเวลานี้ จะเสียโอกาสและธุรกิจได้รับผลกระทบ