7 เมกะเทรนด์สร้างเมืองกรุงเทพฯ ยั่งยืนระยะยาว!
ชวนดู 7 เทรนด์อะไรบ้างที่จะนำพาเศรษฐกิจ-สังคม กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เมืองที่พัฒนา โดยมีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญ?
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่พัฒนาและเติบโตไปอย่างรวดเร็วมาก ขณะเดียวกัน เมื่อโควิดเข้ามารุกรานอย่างที่ไม่ทันตั้งตัวก็ทำให้ความเปราะบางและความเสี่ยงเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมเร็วขึ้นกว่าปกติ การวางแผนพัฒนาเมืองให้มี “ความยั่งยืน” ในระยะยาวจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่ง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู “7 เมกะเทรนด์สร้างกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งความยั่งยืน” ทำอย่างไรเศรษฐกิจและประชาชนจะสามารถขับเคลื่อน เติบโตไปพร้อมๆ กันได้อย่างมีคุณภาพ?
1.ความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อทุกคน (Wellbeing for All)
สุขภาวะและสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับทุกคนเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะปัจจุบันโลกเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วมากจากเทคโนโลยี ทำให้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมกระทบกับทุกคนไม่น้อย ทุกคนจึงต้องหันมาใส่ใจเรื่อง “การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและมีความรับผิดชอบ” ให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคมครั้งสำคัญ
นอกจากนี้ผู้คนยังคงหมั่นใช้เวลา “ทำกิจกรรมกลางแจ้ง” ให้มากขึ้นด้วย เพราะผู้คนควรที่จะต้องมีพื้นที่อยู่กับสิ่งแวดล้อม-ธรรมชาติบ้าง
2.เป็นประเทศที่ชาญฉลาด (Wise Nation)
“การเกษียณ” ของผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ เพราะกลุ่มพลเมืองอาวุโสเป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ ทักษะการใช้ชีวิต และภูมิปัญญา ที่หนาแน่นกว่าคนหนุ่มสาว จึงเป็นเรื่องดีที่เหมาะสมจะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในยุคที่เทคโนโลยีรุดหน้าไปเร็วเพียงกระพริบตา เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ยาวนานขึ้นอีก ไม่ได้หยุดอยู่ตามอายุไขที่มากขึ้น
ทั้งนี้การจะปรับให้กลุ่มคนสูงอายุนั้นทำงานต่อจากมาตรฐานการกำหนดการเกษียณอายุจากเดิม ทางภาครัฐต้องสนับสนุนช่วยเหลือในหลายๆ ส่วน เช่น ระบบสาธารณสุข มีหุ่นยนต์ช่วยเหลือในที่สาธารณะ ทำให้คนสะดวกสบายขึ้น ระบบขนส่ง-คมนาคมต่างๆ อีกทั้งหาจุดร่วมที่ทำให้คนสามารถทำงานร่วมกันได้แม้มีทักษะทางสังคมที่แตกต่างกัน
3.แวดล้อมด้วยข้อมูล (Data Dominance)
ปัจจุบันโลกมีข้อมูลในระบบที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายซึ่งได้อำนวยความสะดวกต่อการทำงานและค้นหาสิ่งต่างๆ แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นข้อจำกัด การสร้างระบบนิเวศให้ข้อมูลให้เป็นแบบเปิดจะทำให้ผู้คนสามารถหารือกันได้ง่ายจากทุกที่ นอกจากนี้ยังต้องใช้ข้อมูลเพื่อให้ความเป็นอยู่ของชีวิตมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
4.แพลตฟอร์มต้องโปร่งใส (Platform Transparency)
ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้นโดยการให้ “ความโปร่งใสของข้อมูล” เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง โดยอาจให้บริษัทเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ-วางระบบ ทำงานร่วมกัน
โดยภารกิจหลักคือการทำให้ประชาชนในประเทศและคนทั่วโลก สามารถตรวจสอบข้อมูล สามารถส่งข้อมูลต่างๆ กลับไปยังต้นทางของหน่วยงานบริหารได้ ทำให้สามารถรับรู้การสื่อสารซึ่งกันและกันได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ยังอาจพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ การเป็นเจ้าของพื้นที่ด้วยตนเอง
5.เปลี่ยนขยะสู่อาชีพ (Waste to Jobs)
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องขยะล้นเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันขยะก็สามารถเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรได้เช่นกัน การจัดการของเสีย การทำการหมุนเวียนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
หากประเทศไทยปลอดขยะ ปลอดพลาสติก ทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่น้ำเช่น ทะเล ลำคลอง จะทำให้ระบบคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์น้ำดีตามไปด้วย
ทั้งนี้ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนลงทุนสร้างงานจากสิ่งนี้ โดยอาจส่งเสริมหรือจูงใจกลุ่มคนที่ไม่มีทักษะหรือกลุ่มที่ให้ความสนใจด้วยตนเองเพื่อทำให้เทรนด์นี้เกิดขึ้นจริง เป็นที่นิยมเชิงบวกได้
6. วันหยุดเพื่อสุขภาพ (Health Holidays)
ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ดึงดูดจากคนเกษียณอายุจากต่างประเทศอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันพอโควิดได้ระบาด ทำให้คนต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยลดลง 20% ร้านอาหารเจ๊ง โรงแรมว่างไม่มีคนเข้าพัก เป็นอุปสรรคอันยากลำบากของผู้ประกอบการในช่วงนี้
ในอนาคตจึงอาจต้องมาคิดกันต่อว่า กรุงเทพฯมีคุณค่าอะไรใหม่ๆ ที่ดีบ้าง ซึ่งจะนำมาชักจูงให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้ใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติที่นี่ และอาจต้องชูจุดเด่นเรื่องที่น่านใจอีก เช่น การท่องเที่ยวเชิญการแพทย์ การมารักษาตัวระยะยาวที่ประเทศไทยราคาค่อนข้างเป็นมิตรกับฝรั่ง การนั่งสมาธิ การออกกำลังกาย แพทย์ทางเลือก ความถูกของสินค้า เป็นต้น
7.ชุมชนเมืองกลมกลืนกัน (Village Harmony)
การทำให้พื้นที่ความเป็นเมืองและพื้นที่ที่เป็นชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก โดยเทรนด์นี้ไม่ได้พูดกถึงแค่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯแต่พูดถึงการกระจายความเจริญสู่จังหวัดอื่นๆ ด้วย เพื่อลดปัญหาในแง่ของประชากรเมืองหลวงแออัดเกินไป
เทรนด์นี้เป็นเทรนด์ที่ท้าทายและไม่ง่าย เพราะการกระจายความเจริญสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ หรือชนบทอาจไปรุกล้ำหรือกลืนความเป็นพื้นที่วัฒนธรรมเดิมๆของจังหวัดนั้นได้ แต่ถ้าหากทำได้ การจัดการมลพิษ ค่าครองชีพ หมู่บ้าน พื้นที่สัญจรสาธารณะ จะไม่ถูกแยกออกจากกันหรือมีความรู้สึกแตกต่างกับกรุงเทพฯที่เป็นเมืองหลวงใหญ่ได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย