EEC กับความท้าทายในภาพของแรงงานอนาคต
บทความโดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับความท้าทายของแรงงานในอนาคตใน EEC ซึ่งความสำเร็จของ EEC ในการชักจูงการลงทุนนั้นจำต้องมีการวางแผนการพัฒนา “แรงงานแห่งอนาคต”
จากการวิเคราะห์ของที่ปรึกษาด้านแรงงานระดับโลก สถาบันแมนเพาเวอร์กรุ๊ป ที่มองภาพตลาดแรงงานในพื้นที่ EEC ว่ายังมีความต้องการแรงงานขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ลักษณะและคุณสมบัติของแรงงานจะแตกต่างไปจากเดิม
หากมองลงลึก ๆ ในรายละเอียดของการลงทุนในพื้นที่ EEC ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะพบว่าการขยายตัวการลงทุนจะกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และจากวิกฤติโควิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เดินหน้าเร่งปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น และโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิต รวมทั้งการจัดการองค์กรภายในเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ภาพรวม ทำให้ธุรกิจต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติที่ต่างไปจากเดิม
ธุรกิจหลายแห่งพยายามเร่งพัฒนาทักษะแรงงานเดิมให้ Upskill-Reskill sin ปรับความชำนาญ (Re-skill) ให้รองรับเทคโนโลยีใหม่และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นับว่าเป็นปรับอย่างรุนแรงในโครงสร้างด้านอุปสงค์ของแรงงานมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
สำหรับด้านสมรรถนะภาพของแรงงานในอนาคตในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ก็เหมือนกับสมรรถนะแรงงานที่เป็นคุณสมบัติในฝันของของผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมต้องการในสภาพแวดล้อมทุกด้าน ไม่ว่าเทคโนโลยี สังคม ธุรกิจ และผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นก็คงเหมือน ๆ กัน และตามที่ UN และหน่วยงานระดับโลกต่าง ๆ เคยสรุปไว้ ซึ่งคล้าย ๆ กัน คือ
มีวินัย (Discipline)
ความมุ่งมั่น (Persistence)
ยืดหยุ่น (Flexibility)
เรียนรู้ตนเอง (Self-learning)
การทำงานร่วมกับคนอื่น (Teamwork)
การสื่อสาร (Communication)
การปรับตัว (Agile)
รวมถึงทัศนคติส่วนตัวต่อการทำงานทั้งหมด ก็จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดของแรงงานในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ผมเห็นโครงการต่าง ๆ ของคณะกรรมการนโยบาย EEC ที่ร่วมมือกับสถานการศึกษา สถาบันวิชาชีพ ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะครบถ้วนและสมบูรณ์พอควรแต่ที่เป็นห่วงก็คือการพัฒนาสมรรถนะของแรงงานที่จะสอนกันเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนวิชาชีพ ทักษะงานทั่วไปไม่ได้ ผมเห็นความพยายามของหน่วยงานภาคการศึกษาพยายามออกแบบการอบรม การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างสมรรถนะเหล่านี้ ซึ่งผมว่าก็ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น คุณสมบัติเหล่านี้ต้องเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในใจ ในสมอง ในทัศนคติ จนกลายเป็นสันดาน และแรงงานในฝันในอนาคตก็ต้องมีสันดานที่ดีเหล่านี้ในตัว สิ่งเหล่านี้ต้องถูกฝึกฝน บ่มอบรม พร่ำสอนทุกวินาทีจาก ครอบครัว เพื่อน ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเขา รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ
เราเคยแปลกใจมั้ยครับว่าทำไมเวลาเราไปอยู่ต่างประเทศ เวลาข้ามถนนเราถึงข้ามทางม้าลายหรือที่ให้ข้าม แต่พออยู่ในเมืองไทย เรากลับข้ามได้ตามใจชอบหากคิดว่าตำรวจไม่เห็น หรือพวกเราที่อยู่เมืองนอก เวลาประท้วงหรือมีม๊อบ ก็ไปขออนุญาตหน่วยงานที่ดูแลแล้วทำตามที่เขากำหนด เช่น ยืนในที่ที่เขากำหนดหรือเดินทางที่ระบุ ประเภทตะลอนหรือไปที่ไหนตามใจชอบไม่มีให้เห็น และในการทำงานก็เหมือนกัน การมาสาย เลิกงานก่อน ข้ามาคนเดียว ความรู้เต็มแก้ว หรือกูรู้คนเดียว มีให้เห็นน้อยมากเมื่อเราทำงานในบางแห่ง แต่เรื่องเหล่านี้กลับกลายเป็นหลังมือในบางแห่ง
คำถามเหล่านี้หากมองผ่านการพัฒนาบุคลากรในเมืองแห่งอนาคต EEC ก็นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งมากกว่าการพัฒนาทักษะทางเทคนิค (Skills) เพราะหลายเรื่อง หลายอย่างต้องขุดลงไปลึกเกินกว่า “นิสัย” ของคนนั้น ๆ และไม่ได้สอนกันง่าย ๆ และใช้เวลาสั้น ๆ รวมถึงความเข้มแข็งของกฎ ระเบียบ กติกา และแรงจูงใจ
ดังนั้นความสำเร็จของ EEC ในการชักจูงการลงทุนนั้นจำต้องมีการวางแผนการพัฒนา “แรงงานแห่งอนาคต” ให้ครบทั้งในเรื่อง Multi-skill รวมไปถึงการสร้างสมรรถนะสำหรับแรงงานสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้ได้ มิเช่นนั้น เราก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานอยู่ร่ำไป แต่คราวนี้ไม่ใช่การขาดแคลนจำนวนแรงงานและวิชาชีพเฉพาะเท่านั้น แต่ขาดแคลนแรงงานคุณภาพและสมรรถนะในมิติของการแข่งขันในอนาคต