เจาะภารกิจ “มาม่า” 50 ปี เสิร์ฟบะหมี่ฯไทยคู่ครัวเรือนโลก
"มาม่า" บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทย ยืนหยัดในตลาดโลกกว่า 30 ปี เสิร์ฟผู้บริโภค 68 ประเทศ ปี 2565 ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ครบ 50 ปี การพิชิตเป้า 30,000 ล้าน ยังอยู่ และ "ส่งออก" ถูกท้าทายมาก คุยกับ พจนา พะเนียงเวทย์ ทัพหน้ารุกตลาดต่างประเทศ กับภารกิจเสิร์ฟ "มาม่า" คู่ครัวเรือนโลก
“มาม่า” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของไทย โดยบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ได้คว้ารางวัล Prime Minister’s Export Award 2021 จากรัฐบาล โดยกรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 2 รางวัล คือ Best Exporter หรือ ผู้ส่งออกธุรกิจยอดเยี่ยม และประเภท Best Thai Brand หรือแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม
รางวัลไม่เพียงการันตีสินค้าคุณภาพของไทย ยังเป็นแต้มต่อในการผลักดันแบรนด์ “มาม่า” ให้ผงาดในเวทีโลกอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย เพราะลูกค้ารู้จักรางวัลดังกล่าวอย่างดีด้วย
พจนา พะเนียงเวทย์ กรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) แม่ทัพส่งออก ผู้รับบทปักธงบะหมี่ฯไทยสู่เวทีโลก เล่าภารกิจสำคัญในโอกาสที่บริษัทจะก้าวสู่ปีที่ 50 ต้องสานเป้าหมายใหญ่สร้างการเติบโตยอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท จาก 3 ส่วน คือ ตลาดในประเทศ จากบริษัทที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะ “เพรซิเดนท์ เบเกอรี่” และ “ส่งออก-ตลาดโลก” จะต้องทำเงิน 10,000 ล้านบาทเท่าๆกัน
มาม่าในไทยมีราว 65 SKUs ในต่างประเทศมี 25 SKUs ต้มยำกุ้ง พระเอกขายดี
2 เสาหลักแรก โอกาสถึงเป้าหมายแน่นอน ขณะที่ตลาดต่างประเทศกลายเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะโควิด-19 ระบาดทั่วโลก กระเทือนการเปิดตลาดใหม่ไม่น้อย เนื่องจากเดินทางไปพบปะลูกค้ายาก
ทั้งนี้ เป้ายอดขายต่างแดน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่งออกจากไทย 5,000 ล้านบาท ส่วนนี้ พจนา ยืนยันทำได้ ส่วนยอดขายจากฐานผลิตในต่างประเทศยังต้องจับตา เพราะมีปัจจัยที่ “ควบคุมไม่ได้” สูงมากกระทบธุรกิจ เช่นการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือชะงัก กระทบค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น บางประเทศขยับถึง 10 เท่าตัว จึงชะลอการส่งสินค้า อีกอุปสรรคคือทีมงานเดินทางไปสำรวจตลาดไม่ได้ ต้องหาข้อมูลผ่านออนไลน์ เพื่ออัพเดทราคาบะหมี่ฯในตลาดต่างๆ
“ตอนนี้ราคาบะหมี่ฯ ในตลาดปรับขึ้นแล้ว แต่ไม่สะท้อนสถานการณ์ตลาดที่แท้จริง เรามีโรงงานที่ฮังการี จึงสำรวจตลาดและพบราคาบะหมี่ฯขยับขึ้น 20% ทำให้ต้องมาดูตลาดในยุโรปทั้งหมดว่าสินค้าราคาขยับอย่างไร เพื่อปรับกลยุทธ์การทำตลาด”
อุปสรรคมาพร้อมโอกาส พจนา และทีมงานพยายามหาช่องว่างให้เจอ แต่ละปีบริษัทปักหมุดเปิด 4 ตลาดใหม่ จาก 4 ทีมงาน ประเทศที่มีศักยภาพจะบุกอยู่ในทวีปอาฟริกา และตะวันออกกลาง พร้อมกันนี้มองการเพิ่ม “ฐานการผลิต” บะหมี่ฯ เกาะเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road :OBOR เชื่อมเอเชีย-ยุโรป เพื่อขนส่งสินค้าทางรถไฟแทนเรือ ที่สำคัญยังรองรับแนวโน้มอนาคตเกมธุรกิจเป็นของท้องถิ่นหรือ Localization พิชิตใจคนพื้นที่ ไม่ใช่โลกธุรกิจไร้พรมแดนหรือ อุปสรรคมาพร้อมโอกาส พจนา และทีมงานพยายามหาช่องว่างให้เจอ แต่ละปีบริษัทปักหมุดเปิด 4 ตลาดใหม่ จาก 4 ทีมงาน ประเทศที่มีศักยภาพจะบุกอยู่ในทวีปอาฟริกา และตะวันออกกลาง พร้อมกันนี้มองการเพิ่ม “ฐานการผลิต” บะหมี่ฯ เกาะเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road :OBOR เชื่อมเอเชีย-ยุโรป เพื่อขนส่งสินค้าทางรถไฟแทนเรือ ที่สำคัญยังรองรับแนวโน้มอนาคตเกมธุรกิจเป็นของท้องถิ่นหรือ Localization พิชิตใจคนพื้นที่ ไม่ใช่โลกธุรกิจไร้พรมแดนหรือ Globalization
“อนาคตจะโตยากหากอาศัยแค่ฐานส่งสินค้าจากไทย เพราะมีอุปสรรคการกระจายสินค้าแต่ละประเทศยากขึ้น มีกำแพงที่ไม่ใช่ภาษีกีดกันการค้า ตอนนี้วิธีคิดเปลี่ยน โลกโกลบอลไลเซชั่นจะหาย โลคัลไลซ์จะมีบทบาทมากขึ้น”
ในไทย “มาม่า” ทำตลาดเชิงรุก 360 องศา ต่างประเทศไม่แพ้กัน การเจาะช่องทางขาย สร้างแบรนด์เริ่มจากร้านในชุมชนชาวเอเชีย ขยับสู่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น COSTCO Walmart coles Woolworthd ฯ ล่าสุด ขยายสู่ออนไลน์ เช่น Amazon Flipkart coupang เปิดร้าน MAMA ใน Lazada เป็นต้น
บริษัทยังส่งรถตุ๊กตุ๊กจากไทยไปสร้างสีสันการตลาดในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน ดึงศิลปินดังสร้างการรับรู้แบรนด์ในประเทศซูรินาม
ทั้งนี้ เป้าหมาย 3-5 ปี ต้องการขยายตลาดให้ครอบคลุม 80 ประเทศทั่วโลก จากปักหมุดแล้ว 68 ประเทศ หลังทำตลาดกว่า 30 ปี พร้อมวาดเป้ายอดขายจากฐานต่างประเทศทะลุ 6,000 ล้านบาท ส่วนปี 2564 พิษสงโควิด-19 ค่าระวางเรือพุ่ง ทำให้บริษัทต้องปรับเป้ายอดขายโต 5% จาก 15% ขณะที่ปี 2563 ยอดขายเติบโตเชิงปริมาณราว 10% แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 4-5% เชิงมูลค่าจึงโตเกือบ 6%
ตัวเลขโตต้องมี ทว่า ภารกิจสำคัญไม้แพ้กัน พจนา มุ่งหวังพาแบรนด์ “มาม่า” ไปอยู่คู่ทุกครัวเรือนของผู้บริโภคทั่วโลก
“ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ต้องการผลักดันแบรนด์มาม่าตอกย้ำการเป็นสินค้าอาหารคุณภาพเสิร์ฟคนทั้งโลก ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์บะหมี่ฯ หรือทำจากเส้น อาจมีข้าว สินค้านวัตกรรมใหม่ๆออกมา เพื่ออยู่คู่ทุกครัวเรือนโลก เหมือนที่มาม่าอยู่คู่สังคมไทย”
ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ส่งตุ๊กต๊กจากไทยไปเพิ่มสีสันการตลาดให้มาม่าในนอร์เวย์ สวีเดน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนธุรกิจหลังโควิดระบาดมีความท้าทายมาก ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงเร็ว เป็นโจทย์ที่ทีมงานต้องเดินให้ “เร็วเท่าความเปลี่ยนแปลง” ของโลกนี้ หรือเดินเร็วกว่า กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นหมาดๆ คือเพจเฟซบุ๊กของ MAMA Global ถูกมือดีแฮ็กไล่ลบข้อมูลต่างๆ สร้างความเสียหายไม่น้อย ทว่า ทันทีที่ทีมงานทราบเรื่องเวลา 01.00 น. จึงเร่งประชุม แก้ไข กอบกู้เพจกลับมาได้ภายใน 2 ชั่วโมง ทั้งที่เป็นเวลาพักผ่อน
“สปีดตอนนี้ไม่มีคำว่ารอ แอ๊คชั่นต้องเกิดขึ้นทันที”