แรงซื้อดัน "หุ้น SCB" บวกเช้านี้ 20 % โบรกปรับเป้า 139 บาท ตอบรับยานแม่ "SCBX"
หลัง "SCB" ประกาศจัดตั้งบริษัทแม่ "SCBX" และเปลี่ยนเกมจากแบงก์สู่ "เทค คอมพานี" บรรยากาศการซื้อขาย "หุ้น SCB" ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ เช้าวันนี้ (23 ก.ย.) เวลา 10.15 น. มีแรงซื้อเข้ามาดันราคาหุ้นเปิดที่ 131 บาท
หลังจาก "SCB" ประกาศจัดตั้งบริษัทแม่ "SCBX" และเปลี่ยนเกมจากแบงก์สู่ "เทค คอมพานี" วานนี้ (22 ก.ย.) บรรยากาศการซื้อขาย "หุ้น SCB" ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ เช้าวันนี้ (23 ก.ย.) เวลา 10.15 น. มีแรงซื้อเข้ามาดันราคาหุ้นเปิดที่ 131 บาท หรือเพิ่มขึ้น 21 บาท หรือ 19.6 % จากวันก่อน โดยทำราคาสูงสุดที่ 137 บาท และราคาต่ำสุดที่ 126 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายอันดับ 1 ที่ 5,938 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ให้ราคาเป้าหมายใหม่ 139 บาท ปรับคำแนะนำเป็น "ซื้อ" จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์
(SCB) ประกาศจัดตั้ง SCBx เป็นบริษัทแม่ (Holding Company) และจะมีการแลกหุ้น (Share Swap) 1:1 ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้น SCB เดิมที่เป็นธุรกิจธนาคาร เปลี่ยนไปถือหุ้น SCBx ที่เป็นบริษัทแม่แทน และทำการ List หุ้นของ SCBx เพื่อซื้อขายในตลาดฯ แทนที่ SCB ที่จะถูก Delist (คาดเกิดต้นปี 65)
จากนั้นจะมีการจ่ายปันผลพิเศษจากกำไรของ SCB 70,000 ล้านบาท ให้แก่ SCBx โดยราว 70% เป็นค่าใช้จ่ายในการโอนบริษัทย่อย และอีกราว 30% เป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น (คาดเกิดกลางปี 65) ซึ่งหากอิงตามราคาหุ้น SCB ล่าสุดคิดเป็น Div.Yield ราว 5.6%
การปรับโครงสร้างดังกล่าว จะทำให้ SCB ซึ่งเป็นธุรกิจธนาคารยังดำเนินการตามเดิมภายใต้ SCBx ซึ่งถือเป็นธุรกิจ Cash Cow เช่นเดียวกับธุรกิจประกันและกองทุนรวม ขณะที่ธุรกิจอื่นที่มีโอกาสเติบโตจะแยกออกมาบริษัทย่อยภายใต้ SCBx อาทิ Card X (ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่โยกมาจาก SCB Bank), Auto X (จัดตั้งใหม่ดำเนินงานแยกกับ My Car My Cash ที่ยังอยู่ภายใต้ SCB Bank เพื่อทำธุรกิจรถแลกเงินที่เน้นในกลุ่มรากหญ้า), Alpha X (จัดตั้งใหม่ JV กับ MGC Group ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถหรู), SCB Securities (ธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งจะไปเน้นในสินทรัพย์ดิจิตอลมากขึ้น), AISCB (JV ร่วมกับ ADVANC ปล่อยสินเชื่อดิติตอล), Venture Capital ที่จัดตั้งร่วมกับ CP Group (ทำธุรกิจ Fintech เช่น Blockchain, Decentralized Finance), ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แยกออกมาจาก SCB Bank ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคาร และตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจะนำบริษัทย่อยต่างๆ เข้าจดทะเบียน IPO ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกทั้งโอกาสในการเติบโตและมูลค่าของบริษัทย่อย
บริษัทตั้งเป้าภายใน 5 ปี ข้างหน้าจะมี (1) ฐานลูกค้าจากทั้ง ASEAN (ไม่เฉพาะธุรกิจสินเชื่อ แต่รวมถึงการใช้บริการ Platform ต่างๆ) ราว 200 ล้านคน (2) มี Market Cap รวมที่ 1 ล้านล้านบาท (3) กำไรเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และรายได้ราว 1 ใน 3 จะมาจากธุรกิจใหม่ (4) เป็นผู้นำในด้านสินทรัพย์ดิจิตอล (5) เป็นผู้นำในด้าน Tech/AI Data analytic
บล.ทรีนีตี้ มองว่าแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าว ปัจจัยที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจะมาจากการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่เป็น Growth Business แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการประกาศเป้าหมายทางการเงินของแต่ละธุรกิจย่อย (ซึ่งบางส่วนเพิ่งเริ่มจัดตั้ง) แต่เราเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีมากขึ้น