AOT ปรับสัญญาเช่าที่ราชพัสดุเดินหน้าเปิด“เมืองการบิน”
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาเกือบ 2 ปี โดยภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศถูกพิษโควิดเล่นงานสาหัส หลังต้องใช้ยาแรงล็อกดาวน์ปิดประเทศมานานหลายเดือน ทำให้กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวลงมากมาย มีคนตกงานจำนวนมาก
โดยปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 6.7 ล้านคน ลดลง 83% จากปีก่อนอยู่ที่ 39.7 ล้านคน และมีรายได้เพียง 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 82% จากปีก่อนที่ 1.93 ล้านล้านบาท
ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากขนาดนี้ส่งกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ รวมทั้งผู้ให้บริการสนามบินซึ่งถือเป็นประตูด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ดูได้จากผลการดำเนินงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT งวดปี 2563 (ต.ค. 2562 - ก.ย. 2563) มีกำไรสุทธิเพียง 4,320.68 ล้านบาท ลดลง 82.74% จากงวดปีก่อนที่ 25,026.37 ล้านบาท
หลังปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีจำนวนเที่ยวบินรวม 515,185 เที่ยวบิน ลดลง 42.51% จากปีก่อน
และมีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 72.64 ล้านคน ลดลง 48.80% จากปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 37.49 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 35.15 ล้านคน
ส่วนงวดปี 2564 (ต.ค. 2563 - ก.ย. 2564) สถานการณ์ดูย่ำแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากหลายประเทศรวมทั้งไทยยังจำกัดการเดินทาง นอกจากนี้ยังเกิดการระบาดรอบใหม่ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ต่อมาจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนและเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยว แต่ในภาพรวมยังไม่ค่อยสู้ดี
เมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายแทบไม่ลดลงไปด้วย ส่งผลให้งวด 9 เดือน ปี 2564 (ต.ค. 2563 – ก.ค. 2564) พลิกขาดทุนถึง 11,164.54 ล้านบาท โดยมีจำนวนเที่ยวบิน 217,579 เที่ยวบิน ลดลง 50.42% จากปีก่อน และผู้โดยสารรวม 19.02 ล้านคน ลดลง 70.81% จากปีก่อน
ดูแล้วคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี กว่าภาคการท่องเที่ยวและผลประกอบการของทอท. จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ขณะนี้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างแล้ว หลังรัฐบาลเริ่มวางแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะคึกคักขึ้นเช่นกัน หนุนราคาหุ้น AOT ในรอบเกือบ 2 เดือนนี้ ปรับตัวขึ้นมากว่า 9%
นอกจากธีมเปิดเมืองที่ถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้น AOT ในช่วงนี้แล้ว ล่าสุดมีข่าวดีหลังบรรลุข้อตกลงในการปรับสัญญาการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุของสนามบินทั้ง 6 แห่ง เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน
โดยสัญญาการเช่าที่ราชพัสดุยังอยู่ในกรอบเดิมที่ 50 ปี ซึ่งตามเงื่อนไขจะเช่าช่วงแรก 30 ปี เริ่มตั้งแต่ 30 ก.ย. 2545 – 29 ก.ย. 2575 (ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 11 ปี) และสามารถขอขยายเวลาการใช้ประโยชน์ได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 ปี
เปลี่ยนเป็นช่วงแรกเหลือเวลา 19 ปี จาก 30 ก.ย. 2545 – 29 ก.ย. 2564 และไปขยายเวลาช่วงที่ 2 เพิ่มเป็น 30 ปี เริ่มตั้งแต่ 30 ก.ย. 2564 – 29 ก.ย. 2594 และช่วงที่ 3 เหลือ 1 ปี ตั้งแต่ 30 ก.ย. 2594 – 29 ก.ย. 2595
การปรับช่วงเวลาการใช้ประโยชน์ให้นานขึ้น 30 ปี นับตั้งแต่สิ้นเดือนก.ย. นี้เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานของทอท. และด้วยระยะเวลาที่นานขึ้นและต่อเนื่อง น่าจะสร้างความเชื่อมั่น จูงใจให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ต่อไป
ด้านบล.กรุงศรี ระบุว่า การปรับสัญญาในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในการปูทางไปสู่โครงการเมืองการบิน หลังถูกชะลอมานาน ทั้งตัวใบอนุญาตการใช้พื้นที่และการทำสัญญาระยะยาว ซึ่งก่อนหน้านี้กำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี สอดคล้องไปกับอายุสัญญาเช่าระยะปัจจุบันที่เหลืออยู่ของทอท. โดยการปรับนี้จะช่วยให้สัญญาเช่าระยะยาวได้สูงสุด 30 ปี สำหรับที่ดินที่จะใช้เป็นโครงการเมืองการบิน
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการเมืองการบินจะใช้พื้นที่ 1,423 ไร่ แบ่งเป็นสิทธิการเช่า 700 ไร่ และกรรมสิทธิ์ 723 ไร่ หรือราว 2.27 ล้านตร.ม. ซึ่งจากการวิเคราะห์ sensitivity ของฝ่ายวิจัยต่ออัตราค่าเช่าที่เปลี่ยนไป 25-100 บาทต่อตร.ม. ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 1-3% หรือ 683 ล้านบาท – 2 พันล้านบาท และกำไรจะเพิ่มขึ้น 1.8-5.5% หรือ 546 ล้านบาท – 1.6 พันล้านบาท ภายในปี 2567 เป็นอย่างเร็วที่สุด ส่วนราคาเป้าหมายจะเพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อหุ้น ทุกค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น 25 บาทต่อตร.ม.