กรมโยธาฯเร่งสปีดผัง EEC หนุนฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด
กรมโยธาธิการฯ เร่งเครื่องทำผังเมือง 30 อำเภอ EEC หนุนการฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติ ชี้ โควิดกระทบรับฟังความเห็น แต่มั่นใจประกาศใช้ครบ ภายในเป้าหมายปี 2567
ขณะนี้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 หรือผังอีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ,ระยอง และ ฉะเชิงเทรา มีผลบังคับใช้ และขณะนี้อยู่ช่วงจัดทำผังเมืองอำเภอตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ครอบคลุม 30 อำเภอ จัดทำรวม 30 ผัง
นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งดำเนินการจัดทำผังเมืองอำเภอทั้ง 30 ผัง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปิดรับฟังความเห็นที่จำเป็นต้องเปิดเวทีสาธารณะเพราะกฎหมายยังไม่รับรองการรับฟังความเห็นด้วยระบบออนไลน์ โดยขณะนี้มีผังเมืองที่จัดทำร่างเสร็จแล้วและรอการรับฟังความเห็น 7-10 ผัง เพิ่มเติ่มจากที่เปิดรับฟังความเห็นใน EEC เสร็จไปแล้ว 4 ผัง คือ
1.ผังเมืองรวมชุมชนบ้านโพธิ์
2.ผังเมืองรวมชุมชนบางปะกง
3.ผังเมืองรวมเมืองสัตหีบ
4.ผังเมืองรวมชุมชนวังจันทร์
ทั้งนี้ ร่างผังเมืองที่ผ่านทุกขั้นตอนแล้วจะนำเสนอคณะกรรมการผังเมืองกลางที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณาตามหลักวิชาการและผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย
“คาดว่าทั้ง 4 ผังนี้จะประกาศเป็นกฎหมายได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และสาเหตุที่ล่าช้าบ้างเพราะเกิดการระบาดโควิด-19 ทำให้กระบวนการประชุมล่าช้า และทำให้มีการขยับไทม์ไลน์เล็กน้อย แต่เป้าหมายใหญ่ยังยืนยันว่า การประกาศใช้ผังเมืองทั้งหมดจะเสร็จภายในปี 2567”
รายงานข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า ขั้นตอนการทำผังเมืองจะประกอบมี 8 ขั้นตอน ได้แก่
1.สำรวจ กำหนดเขตผังวิเคราะห์และจัดทำร่างผังเมืองรวม
2.ประชุมพิจารณาร่างผังเมืองรวม
3.ประชุมรับฟังความเห็นประชาชน
4.ประชุมคณะกรรมการผังเมือง
5.การปิดประกาศ 90 วัน
6.รวบรวม ตรวจสอบ พิจารณาคำร้อง และแจ้งผลพิจารณาคำร้อง
7.จัดทำเอกสารประกอบการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย
8.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับขั้นตอนที่ 1 จะเป็นการสำรวจจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลกายภาพบนแผนที่มาตราส่วน 1 : 4,000 รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสังคมและประชากรระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และลงพื้นที่รายตำบลประชุมกลุ่มย่อยประชาชนไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง นำผลมาวิเคราะห์เพื่อร่างผังระดับพื้นที่ ซึ่งวิเคราะห์ศักยภาพ เงื่อนไข ข้อจำกัดเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ขีดความสามารถรองรับโครงสร้างพื้นฐานและสอดคล้องความต้องการประชาชน
ส่วนผังเมืองที่เข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 การประชุมพิจารณาร่างผังเมืองมีรวม 7 ผังเมือง ประกอบด้วย
1.ผังเมืองรวมชุมชน พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
2.ผังเมืองรวมเมืองบางละมุง จ.ชลบุรี
3.ผังเมืองรวมชุมชนบ้านบึง จ.ชลบุรี
4.ผังเมืองรวมเมืองศรีราชา จ.ชลบุรี
5.ผังเมืองรวมชุมชนหนองใหญ่ จ.ชลบุรี
6.ผังเมืองรวมชุมชนแกลง จ.ระยอง
7.ผังเมืองรวมชุมชนนิคมพัฒนา จ.ระยอง
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เป็นเขตเมืองอุตสาหกรรมบริการทำได้เต็มที่ แต่อุตสาหกรรมการผลิตทำไม่ได้ หากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมห้ามตั้งโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงตามที่กำหนด อุตสาหกรรมที่เหลือทำได้หมด เช่น อุตสากรรมแปรรูปการเกษตรทำได้ และพื้นที่อนุรักษ์ห้ามทำกิจกรรมทุกชนิดในขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมผังสีม่วงทำได้หมดทุกอุตสาหกรรม ยกเว้นแต่คณะกรรมการมีข้อกำหนดว่าจะห้ามอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
รวมทั้งผู้ประกอบการที่จะมาซื้อที่ดินต้องสอบถามให้รอบคอบว่าในพื้นที่ทำอะไรได้ตามผังเมือง ซึ่งหากมีข้อมูลชัดเจนจะไม่กระทบธุรกิจ เพราะแม้ผังเมืองอำเภอยังไม่เสร็จ แต่ผังมืองรวมอีอีซีกำหนดประเภทกิจกรรมชัดเจนแล้ว และผังเมืองอำเภอจะพยายามทำให้สอดคล้องผังอีอีซี แต่หากไม่สอดคล้องบางจุดต้องมีหลักวิชาการเข้ามารองรับ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ที่ผ่านมา สกพอ.และกรมโยธาธิการได้ร่วมดำเนินการเกี่ยวกับผังเมืองอีอีซีมาต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดพื้นที่รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ 20 ปี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 1,096,979 ไร่ คือเป็น 13.23%
พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 424,854 ไร่ คือเป็น 5.12%
พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม 4,850,831 ไร่ คืดเป็น 58.50%
พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,678,753 ไร่ คิดเป็น 20.24%
โดยถ้าหากผู้ประกอบการต้องการลงทุนกิจการในพื้นที่ที่ตรงกับผังอีอีซีก็ดำเนินการได้ทันที
สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากผังเมืองใหม่ของ อีอีซี จะทำให้เมืองหรือชุมชนสวยงามเจริญเติบโตอย่างมีระเบียบและถูกสุขลักษณะ ทำให้ประชาชนปลอดภัยในการอยู่อาศัย ส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองและชุมชน สภาพแวดล้อมของเมือง และชุมชนจะดีขึ้น เนื่องจากกำหนดพื้นที่กำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสียที่ชัดเจน ไม่กระทบต่อชุมชน ทำให้สภาพกวดล้อมเมืองน่าอยู่อาศัย มีสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงาม
นอกจากนี้ ผังเมืองจะเป็นการกำหนดชัดเจนถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนการลงทุนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 โดยประเภทอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด มีคุณภาพการบริหารจัดการที่ดีทั้งไฟฟ้า น้ำประปา อินเตอร์เน็ต 5จี ถนนหนทางเส้นใหม่ และเชื่อมต่อที่สมบูรณ์ การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในชีวิต รวมถึงการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดี จบมาแล้วมีงานทำและลดการย้ายถิ่นฐานไปพื้นที่อื่น