บอร์ดการทางพิเศษฯ อนุมัติเอกชน 2 กลุ่ม ลุยก่อสร้างทางด่วนพระราม 3
บอร์ด กทพ. ไฟเขียว “ยูเอ็น - ซีซี” และ “ไอทีดี-วีบีซี” คว้าประมูลสร้างทางด่วนพระราม 3 พร้อมปรับสัญญาลดเวลาก่อสร้างเหลือ 34 เดือน หวังเร่งลดความเสียหายล่าช้า
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. มีมติเห็นชอบให้ กทพ. ดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ตามที่ กทพ. เสนอ โดยเห็นชอบให้
1.กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในสัญญาที่ 1 วงเงิน 7,350 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.กิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี เป็นผู้ก่อสร้างในสัญญาที่ 3 วงเงิน 7,359.3 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
รวมถึง กทพ. ได้มีการปรับลดระยะเวลาการก่อสร้าง จาก 39 เดือนให้เหลือเพียง 34 เดือน เพื่อให้ลดความเสียหายจากปัญหาการประมูลล่าช้าของทั้ง 2 สัญญา
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างมากในชั่วโมงเร่งด่วนและในวันหยุดช่วงเทศกาลต่าง ๆ บนถนนพระรามที่ 2 อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางและสัญจรของประชาชนในพื้นที่ชานเมืองและจังหวัดที่อยู่รอบนอกกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นเส้นทางสัญจรลงสู่ภาคใต้ พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งตลอดจนต้นทุนค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์อีกด้วย
ซึ่งหาก กทพ. ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผน จะส่งผลกระทบเสียหายหลายประการ อาทิ ความเสียหายจากการสูญเสียรายได้ค่าผ่านทาง คิดเป็น 133.8 ล้านบาทต่อเดือน ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ คิดเป็น 544 ล้านบาทต่อเดือน และความเสียหายจากต้นทุนการก่อสร้างโครงการที่สูงขึ้นคิดเป็น 124 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ราคาค่าก่อสร้าง ณ เดือน ก.ย. 2564 ได้พุ่งสูงขึ้นจากราคากลางไปกว่า 575 ล้านบาทแล้ว
อนึ่ง จากกรณีร้องเรียนของ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และร้องเรียนได้พิจารณาแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องเรียนฟังไม่ขึ้น โดย กทพ. ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในพระราชบัญญัติฯ กฎกระทรวง ระเบียบฯ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฯ รวมถึงได้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น
ดังนั้น การดำเนินการของ กทพ. จึงไม่ขัดต่อมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และในส่วนการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลปกครองกลาง หากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นประการใด กทพ. ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติก็จะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาทันที ดังที่ กทพ. ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด