3 กองทุนต่างชาติ ซื้อ หุ้นกู้เอเวอร์แกรนด์
“มอร์นิ่งสตาร์” เผยข้อมูล กองทุนมาร์สเตอร์ฟันด์ต่างประเทศ Blackrock, HSBC และ UBS ได้มีการสะสมหุ้นกู้ เอเวอร์แกรนด์ มาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา “แม้จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนโดยรวมลดลง” ขณะที่กองทุนไทยเข้าลงทุนเป็นสัดส่วนน้อยไม่เกิน1%ของพอร์ต ปรับพอร์ตดูแลได้
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ข่าวใหญ่ในการลงทุนคงหนีไม่พ้นชื่อ China Evergrande Group ซึ่งมีข่าวว่าอาจผิดนัดชำระหนี้ก้อนใหญ่มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่มีข่าวว่าทางรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร
ขณะที่นักลงทุนกำลังกังวลทั้งประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ รวมไปถึงผลกระทบที่อาจเป็นวงกว้างซึ่งรวมไปถึงสถาบันการเงินอย่างธนาคาร
แน่นอนว่าในตลาดตราสารหนี้นั้นจะเห็นมูลค่าหุ้นกู้ China Evergrande Group ลดลง ทาง Patrick Ge นักวิเคราะห์กองทุนของมอร์นิ่งสตาร์ มองว่า ผู้จัดการกองทุนอาจมีมุมมองที่ความแตกต่างกันในการเข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัท
“เราพบว่าบางกองทุนมีการเพิ่มการถือตราสารจาก China Evergrande ในช่วงกรกฎาคมและสิงหาคม 2564 จาก spread ที่กว้างขึ้นรวมทั้งมูลค่าที่น่าสนใจ ซึ่งตรงกับข้อมูลจากผู้จัดการกองทุนบางแห่งที่มองว่าระดับราคาปัจจุบันเป็นจุดเข้าซื้อ”
ข้อมูลจาก Morningstar Direct พบว่ากองทุนจาก UBS, HSBC, และ Blackrock ได้มีการสะสมหุ้นกู้ Evergrande แม้ว่าจำนวนหน่วยจะเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนโดยรวมนั้นลดลง
อ่านข่าว : อสังหาฯไทย แกร่งพอไหม? หลัง วิกฤติเอเวอร์แกรนด์ กระเพื่อม
โอกาสการลงทุน?
กองทุนจาก BlackRock มีการเพิ่มตราสารของ Evergrande ทั้งสิ้น 31.3 ล้านหน่วยในช่วงมกราคมถึงสิงหาคม 2564 อย่างไรก็ตามผลต่อพอร์ตโดยรวมนั้นลดลงเนื่องจากมูลค่าหุ้นกู้ที่ลดลง โดยการลงทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 1%
ในช่วงมกราคมถึงกรกฎาคม กองทุนจาก HSBC เพิ่มการลงทุนหุ้นกู้จาก Evergrande อีก 40% แต่สุทธิแล้วมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือ 1.22% ด้านกองทุนจาก UBS พบข้อมูลล่าสุดเมื่อพฤษภาคมว่ากองทุน Asian high yield มีการลดการถือหุ้นกู้ Evergrande ลง 0.09% แต่จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 25% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี
อย่างไรก็ตาม Fidelity, PIMCO และ Allianz มีมุมมองที่ต่างไปโดยมีการขายหุ้นกู้ Evergrande ในช่วง 7 เดือนแรกของปี หรือลดลง 3%-47% จากเดิม
รัฐบาลจีนอาจไม่เข้าอุ้มเอเวอร์แกรนด์
ทางคุณ Patrick ยังกล่าวอีกว่ายังคงต้องติดตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนไปได้อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนยังไม่ควรคาดหวังว่า รัฐบาลจะมีแผนอุ้มบริษัทอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ Huarong Asset Management
เนื่องจากทั้ง 2 กรณีมีความแตกต่างกัน กรณีของ เอเวอร์แกรนด์นั้น เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และมีการทำธุรกิจอื่นเช่นรถยนต์ไฟฟ้าเพียงส่วนน้อย หุ้นกู้ของบริษัทถือเป็นแบบ high yield
ในขณะที่กรณี Huarong นั้นเป็นสถาบันการเงินและออกหุ้นกู้ระดับ investment grade จากความแตกต่างที่ชัดเจนนนี้ ท่าทีของรัฐบาลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ก็อาจต่างกันได้
นอกจากนี้หากมองในมุมของรัฐบาลจีน NPL ของ Huarong นั้นถือเป็น systematic risks ที่จะเป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศจีน
ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังผู้จัดการกองทุนนั้น เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนอาจไม่ออกแผนเข้าอุ้มกิจการกรณีของ เอเวอร์แกรนด์
กองทุนไทยไร้กระทบ ปรับพอร์ตได้
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทมอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนรวมไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ของ "เอเวอร์แกรนด์" หรือหากเข้าไปลงทุนคงไม่ได้เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตลงทุน ซึ่งการมีสัดส่วนลงทุนเป็นส่วนน้อยเชื่อมั่นว่า ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับพอร์ตลงทุนหลักของกองทุนได้แน่นอน
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย เปิดเผยว่า กองทุนไชน่าของบริษัทมีเข้าไปลงทุน สัดส่วน0.14% ของพอร์ต เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เพราะเป็นการลงทุนประเภทไฮยิลด์บอนด์ ขณะที่นโยบายการลงทุนต่างประเทศของกองทุนเลือกลงทุนในบอนด์กลุ่มระดับลงทุน ( investment grade) เท่านั้น ซึ่งทางผู้จัดการกองทุนคงจะมีการปรับสัดส่วนให้เหมาะสม ซึ่งประเมินว่าความเสี่ยงดังกล่าวต่อการลงทุนในบอนด์ยังจำกัด ส่วนใหญ่ยังเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอสังหาฯ มากกว่า ซึ่งไม่มีการลงทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทยังต้องจับตาความเสี่ยงดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มเซ็กเตอร์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ แม้ในระยะสั้นอาจมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุนในจีนจากปัจจัยลบต่างๆ แต่กองทุนมองภาพการลงทุนระยะยาว ยังเชื่อมั่นว่า จีนยังมีการเติบโตที่ดีและน่าลงทุนเมื่อตลาดปรับฐาน
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ บลจ.ยูโอบี เปิดเผยว่า บริษัทไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่ม “เอเวอร์แกรนด์”แต่อย่างใด ทั้งนี้เหตุผลหลักที่บริษัท ไม่เข้าลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวเนื่องจากผู้จัดการกองทุนประเมินว่า จากปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์โควิด -19กระทบในเซ็กเตอร์อสังหาฯประกอบกับกลุ่มบริษัทดังกล่าว มีการลงทุนในหลากหลายธุรกิจที่มีความซับซ้อนเกินควร จึงไม่ได้มีการพิจารณาเข้าไปลงทุน