เจาะเทรนด์การตลาด 2022 ติดอาวุธธุรกิจ..รอด!
โรคโควิด-19 ระบาด ปฏกิริยาเร่ง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจปรับตัว หาทางเอาตัวรอด มองโลกการค้าขายหลังไวรัสคลี่คลาย พร้อมเจาะเทรนด์ไหน สื่อแพลตฟอร์มใดมาแรง-ร่วง ผ่านงาน GroupM Focal 2021
ตราบที่โลกยังคงหมุนเวียน วันเวลาเปลี่ยนไป และความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด อีกทั้งเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด เช่นเดียวกับโลกธุรกิจ การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน
ปี 2563-2564 นับเป็นปีแห่งความท้าทายของ “ทุกคน” และทั้งโลก เมื่อต้องเผชิญโรคโควิด-19 ระบาด รุนแรงใหญ่รอบร้อยปี ผู้คนต่างรู้ซึ้ง รู้ดีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้าน ทั้งการสูญเสีย “ชีวิต” ของประชากรนับล้าน สุขภาพร่างกายที่ดีกลายเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริง เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ธุรกิจชะงักงัน เกิดความเสียหายมหาศาล
ปัจจัยลบรอบด้าน แต่กิจการค้าขายจะหยุดนิ่งตลอด คงไม่ได้ ระยะสั้นทุกบริษัทพยายาม “ปรับตัว” เพื่อยืนระยะให้ “รอด” พ้นห้วงเวลายากลำบาก ระยะยาว การพลิกกระบวนท่า ปรับสูตรการตลาดใหม่ ยังจำเป็น เพราะตัวแปรใหญ่คือ “พฤติกรรมผู้บริโภค” ที่ไม่เหมือนเดิม
เป็นประจำทุกปี ที่เอเยนซี่ดิจิทัลยักษ์ใหญ่อย่าง “กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)” ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของเมืองไทย จะจัดงานกรุ๊ปเอ็ม โฟคัล(GroupM FOCAL) ผนึกพันธมิตรในเครือ ทั้งมายด์แชร์ มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์ และเอ็มซิกส์ เพื่อตกผลึกประเด็นสำคัญสำหรับนักการตลาดในอีก 12 เดือนข้างหน้า แม้อนาคตเพียง “เสี้ยววินาที” ข้างหน้า ไม่มีใครรู้จะเกิดอะไรขึ้น ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแต่ละวัน เป็นข้อมูลที่ช่วยวิเคราะห์ ทิศทาง แนวโน้มเพื่อ “ติดอาวุธทางการตลาดให้แบรนด์สินค้าและบริการ” ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตต่อ
ประเด็นสำคัญที่ GroupM FOCAL 2021 ย้ำในการสัมมนาคือความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และธุรกิจจากโควิด-19 การใช้งานเทคโนโลยี และดาต้าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ การผสมผสานเครื่องมือสื่อสารการตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ และ การเพิ่มช่องจัดจำหน่ายรวมถึงอีคอมเมิร์ซเพื่อการขยายขีดจำกัดทางการตลาด
++ ‘กลัว-ไม่มีกิน’ เส้นบางๆ การอยู่รอด!
‘2021 Consumers Untold’ การวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภครอบด้านทั้งชีวิต การเงิน การบริโภคสื่อ เพื่อให้นักการตลาดมองอนาคตจะวางแผน กลยุทธ์อย่างไร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้ได้
ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ -แพน จรุงธนาภิบาล
เกือบ 2 ปีที่ อิทธิพลของโควิด-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตผู้บริโภค ซึ่ง ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด และ แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) เผยผล กระทบจากโรคระบาดระลอก 3-4 ไม่เพียงทำให้ประชาชนเจ็บป่วย แต่ยังมี “คนตกงาน” จำนวนมาก ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่จังหวัดใหญ่ที่เคยมีโรงงานราว 80% ต้องปิดชั่วคราว ปิดถาวร การกลับบ้านเกิดเมืองนอน กลายเป็นทางอออก และต้องใช้เงินเก็บที่มี สร้างความลำบากให้ผู้บริโภคอย่างมาก
“สถานการณ์ปีนี้หนักกว่าปีก่อน เพราะคนททำงานไม่ได้ ตกงาน ขาดงานถาวร การใช้ชีวิตในเมืองลำบาก ผู้บริโภคจึงกลับบ้าน” แพน กล่าว
เมื่อประชาชนกลับบ้าน เพิ่มความเสี่ยงให้พื้นที่สีเขียว ผู้คนกังวลการเชื้อไวรัสมาสู่ชุมชน กลายเป็นปัจจัยให้การใช้ใชีวิตเต็มไปด้วยความกังวล ทว่า จะให้ใช้ชีวิตอยู่บ้าน ไม่ออกไปทำงาน อาจไม่มีกินเช่นกัน
กลุ่มตัวอย่างชาวสงขลา จะออกไปทำงานไซส์ก่อสร้าง หากติดโควิดจะสร้างปัญหาต่อคนในครอบครัว หรือได้เงินคุ้มไหมหากไปทำงานแล้วติดโรคโควิด-19 เพราะ “รายได้” ถาวรจะหายไป 1 ทาง
“คนไทยประสบปัญหาเส้นบางๆระหว่างกลัว..เลือกอยู่บ้านแต่ไม่มีกิน กับการทำยังไงเพื่อให้อยู่รอดให้ได้” ณัฐวีร์ ณีว ย้ำ
การใช้ชีวิตยังยุ่งยากต่อ เมื่อการซื้อสินค้าผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น โลตัส บิ๊กซี สร้างความกังวลให้หัวหน้าครอบครว เพราะ 2 ห้าง วัยรุ่นไปใช้บริการมาก ยังไม่ระวัง ป้องกันตัวเองเท่าที่ควร จึงเลี่ยงความเสี่ยง ยอมเดินทางไปช้อปที่ “แม็คโคร” แทนแม้จะะอยู่ไกลบ้านมากสุด
++ ชีวิตแย่พอแล้ว แบรนด์ไม่ต้องสงสาร
เกือบ 2 ปีที่ทั้งโลกและคนไทยอยู่กับโรคระบาด แต่ไทยยังมีเคอร์ฟิวส์และ “ล็อกดาวน์” ธุรกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทำให้ประชาชน “ไม่มีรายได้” แต่ชีวิตต้อง Move on ไม่เช่นนั้นจะไม่มีกิน ไม่แค่ทำงานต้องเดินหน้าต่อ แต่ผู้บริโภคโหยหาการใช้ชีวิตปกติ ต้องการท่องเที่ยวในพื้นที่ก็ยังดี หากยังไปไหนไกลไม่ได้
สัญญาณดังกล่าว แบรนด์ต้องมีแผนงาน วางกลยุทธ์การตลาดล่วงหน้า เพื่อพร้อมคว้าโอกาส ทว่า ช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ธุรกิจมักปล่อยอาวุธเพื่อ “โกยยอดขาย” จึงย้ำนักการตลาดอย่าละทิ้งศาสตร์สร้างการรับรู้แบรนด์ให้ครบทั้ง Customer Journey เพราะการอยู่ในใจผู้บริโภคได้ เมื่อคลายล็อก ธุรกิจเปิดให้บริการ ลูกค้าจะวิ่งเข้าหาเอง เช่น การคลายล็อกดาวน์ร้านอาหาร ผู้บริโภคแห่ต่อคิวร้านโปรดเนืองแน่น
อีกสิ่งที่ต้องฉุกคิด คือการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภคในห้วงเวลานี้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่แบรนด์ต้องไม่ตอกย้ำให้ชีวิตผู้บริโภคดูน่าสงสารยิ่งขึ้น หยิบอนาคตจะมีสิ่งดีกว่ารออยู่ชวนกัน Move on ดีกว่า
“เมสเสจที่แบรนด์สื่อสารกับผู้บริโภคตอนนี้ เน้นให้กำลังใจมากกว่า แต่จะ Cheer up ยังไง เพราะชีวตแย่อยู่แล้ว ไม่ต้องทำให้เขา(ผู้บริโภค)ดูน่าสงสารขนาดนั้น เบื่อแล้วการบอกสู้ๆนะ เดี๋ยวดีขึ้นเอง แต่มองไปเลยตอนจบมีแสงสว่างอะไรบ้าง จะทำยังไงให้รู้สึกว่าชีวิตในอนาคตมีสิ่งที่ดีกว่า ทำให้ผู้บริโภคมีความสุขกับแบรนด์ตั้งแต่ตรงนั้น” ณัฐวีร์ ณีว กล่าว
โควิด-19 ทำการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนต่อเนื่อง ทั้งอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ลูกหลานเรียนออนไลน์ สร้าง “ภาระค่าใช้จ่าย” เพิ่มเป็นเงาตามตัว เช่น ค่าไฟเพิ่ม 30-40% ค่าอินเตอร์เน็ต แพ็คเกจความบันเทิงเพื่อเสพคอนเทน์ต่างๆ ที่น่าสนใจคือ หากมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์(OTT) เพลงสตรีมมิ่ง ปล่อยโปรทดลอง “ฟรี” ผู้บริโภคจะดาวน์โหลดมาใช้งาน แต่หมดนาทีทองจะเลิกและ “ลบ” แอ๊พพลิเคชั่นทิ้ง ของใหม่มา ก็จะทำเช่นเดิม เพราะโทรศัพท์มือถือพื้นที่ความจุน้อย แบรนด์อยากได้ลูกค้า ต้องหากลยุทธ์รักษาฐานกลุ่มเป้าหมายให้ได้
นักเรียน นักศึกษา เรียนออนไลน์มากขึ้น “กังวลอนาคต” ประสบการณ์ด้อยกว่าการเรียนในห้อง หลักสูตรยาก ขาดการปฏิบัติจริงในห้อง ปรึกษาอาจารย์ไม่ได้ ส่งผลให้ห่วงความมั่นคง ไม่มีงานทำ พื้นที่ทำงานยัง “ว่าง” เหลือให้เข้าไปแทรกได้หรือไม่
“สิ่งที่เกิดจากโควิดทำให้นักศึกษากังวงอนาคตสั่นคลอน ความไม่รู้เพียงพอ จบแล้วบริษัทจะรับทำงานไหม แข่งกับคนมีประสบการณ์ได้ไหม” ณัฐวีร์ ณีว กล่าว
โควิดเล่นงานธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมเสียหายยับ เจ้าของโฮสเทลรุ่นใหญ่ปิดกิจการ ต้องดูแลลูก เรียน-สอนออนไลน์กับหลาน และมีทักษะ “ชอปปิงออนไลน์” บางราย Live ขายสินค้าจนคล่อง ครู-อาจารย์ รู้จักตัดต่อคอนเทนท์เพื่อทำเอกสารประกอบการสอน เกษตรกรค้าขายสินค้าผ่านออนไลน์ ฯ ทั้งหมดคือวิถีชีวิตใหม่ที่เกิดจากโควิด
++ล็อตเตอรี่ คือความหวัง
ด้านการเงิน เมื่อคนตกงานกลับบ้านเกิด อยู่ร่วมชุมชน จึงเกิดการค้าขายในหมู่บ้าน พึ่งพากันเองมากขึ้น เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ เช่น คนตกงานกลับไปทำอาหาร ขายให้เพื่อนบ้าน นักเรียน นักศึกษา หาอาชีพเสริมเป็นนักแสดงในเกมออนไลน์ได้เงินจ่ายค่าเช่าหอพัก จ่ายค่าเล่าเรียน
ส่วนการใช้จ่ายแน่นอนว่า “เลือกซื้อสินค้าราคาถูก” เมื่อไหร่มีแฟลชเซลล์ เทศกาลโปรโมต่างๆ จึงยอมควักกระเป๋า ซื้อมาสินค้าได้ใช้ไหมเป็นอีกเรื่อง เพราะผู้บริโภคไม่ยอมเสียโอกาสทอง บางรายซื้อเครื่องปั่นกระเทียมข้ามปียังไม่ได้ใช้ ขณะที่การซื้อสินค้าตามความเหมาะสม เช่น ยา ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ซื้อในช่องทางต่างๆ ผลิตภัณฑ์นมซื้อตอนโปรโมชั่น เป็นต้น
โควิด-19 ปฏิกิริยาเร่งให้ “ชอปปิงออนไลน์” โตแรง แต่ผู้บริโภคจำนวนมากถูก “โกง” จากร้านค้าออนไลน์ คนขายที่ไม่ระบุตัวตน บทเรียนที่ได้คือการไม่ซื้ออีกต่อไป และหันไปซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ ระบุตัวตนผู้ขาย หากเกิดปัญหาจะได้ดำเนินการขอเงินคืนได้ ถือเป็น “โอกาส” ของนักการตลาดจะพาแบรนด์สินค้าและบริการไปอยู่บนมาร์เก็ตเพลสที่น่าเชื่อถือ
เศรษฐกิจขึ้น-ลง รายได้เพิ่ม-ลด “ล็อตเตอรี่” ยังดึงเงินในกระเป๋าจาากผู้บริโภคได้ แต่โควิด-19 ฉุดอำนาจซื้อลง ที่ผ่านมาผู้บริโภคพร้อมควักเงิน 200 บาทลุ้นโชค ปัจจุบันลดเหลือ 30 บาท
“การซื้อล็อตเตอรี่ไม่หาย คนยังสนใจแต่เล่นน้อยลง การแทงหวยทำให้ชีวิตมีความหวัง” ณัฐวีร์ ณีว กล่าว
++ทวิตเตอร์ เว็บการ์ตูนร่วง TikTok มาแรง
กลัว Fake News ต้องรีเช็ก
พฤติกรรมใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยน การใช้จ่ายรัดกุมขึ้น สิ่งที่นักการตลาดต้องตามติด คือการเสพสื่อ เพื่อจะได้รู้ว่า “ช่องทางไหน” เหมาะจะส่งสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย
โควิดที่กระทบทั้งโลก แต่ไทยมีตัวแปรป่วนเพิ่มคือ “การเมือง” และทวิตเตอร์กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ปั่นข้อมูลข่าวสารของ “คนเห็นต่าง” ดุเดือดและข้อมูลต่างกันสุดขั้ว เมื่อผู้บริโภคเข้าไปเสพโดยเฉพาะ “ข่าว” กลับเพิ่ม “ความเครียด” ทำให้ความนิยมของทวิตเตอร์ร่วงมา Top3 จากเดิมผู้บริโภคใช้ตามข่าวสารมากสุด
“ช่วงนี้ทวิตเตอร์ข้อมูลสารเยอะ แต่มีฝ่ายเดียวกันกับฝ่ายตรงข้าม คอนเทนท์ตีกัน เสพแล้วเครียด” แพน ย้ำ
นอกจากนี้ พฤติกรรมการเสพข่าวของผู้บริโภคเกิดขึ้นหลายช่องทาง ไม่ดูข่าวจบแค่ช่องเดียว และการรับข่าวสารเวลานี้ “อ่อนไหวมาก” จากข่าวเท็จหรือ Fake News การประโคมข่าวจนเกินจริง รวมถึงการแชร์ข่าวสารมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะข่าวปลอมมีอันตรายสร้างผลกระทบในวงกว้าง
กลับกัน ภาวะโรคระบาด ประชาชนต้องเกาะติดสถานการณ์รายวัน การฉีดวัคซีน มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ Facebook Google เป็นแพลตฟอร์มใช้ตามข่าวมากขึ้น รวมถึง TikTok ที่มีไฮไลท์ข่าวให้เสพ ไม่ต้องเสียเวลาดูทีวี อีกแพลตฟอร์มปีนี้ที่ไม่ถูกพูดถึงคือ “เว็บการ์ตูน”
โควิดปีก่อนทำให้ TikTok มาแรงมาก เกิดดาว TikTok อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่มากมาย ปีนี้ยังฮอตต่อ ผู้ใช้งานขยายฐานจาก “วัยรุ่น” มาเป็น “ผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะวัย 40-60 ปี จุดเด่นทำให้ TikTok มาแรงคือการเป็นวิดีโอสั้น ดูง่าย ได้ใจความสอดคล้องพฤติกรรมชาวไทย ไม่ต้องการเสียเวลาดูคอนเทนท์ยาวๆ การเข้าใจผู้บริโภค จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ในการสร้างสรรค์เนื้อหาสั้นได้ใจความไปอยู่บนสื่อแพลตฟอร์มต่างๆด้วย
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆเสพคอนเทนท์ ค่ายไหนมีโปรโมชั่นให้ทดลองฟรี เช่น ยูทูปพรีเมี่ยม สปอทิฟาย ที่อัดดปรโมชั่นจูงใจหนัก ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ แต่หมดโปร พร้อมลบทิ้งกลับไปใช้แพลตฟอร์มเดิม เช่น จากสปอทิฟาย ไปใช้จูกซ์ เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริโภคใช้เวลากับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จึงโฟกัสสิ่งที่ตนเองสนใจ ทำให้เกิด THE 'ME' 'ME' & 'ME' Moments แบรนด์จะสื่อสารดึงความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร ต้องเข้าใจอินไซต์เหล่านี้
++เทรนด์ “คอมเมิร์ซ” ปี 2565
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดทำให้ช่องทางค้าขายเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ เมื่อ “หน้าร้าน” หรือช่องทางออฟไลน์ถูกล็อกดาวน์ การย้ายไปขายบน “ออนไลน์” จึงเป็นทางเลือกเพื่ออยู่รอด ทั้งนี้ เทรนด์คอมเมิร์ซในเอเชียแปซิฟิกปีหน้าจะเป็นอย่างไร Toni Routanen หัวหน้าฝ่ายยอีคอมเมิร์ซ อาเซียน กรุ๊ปเอ็ม เอเชียแปซิฟิก หยิบ 4 เทรนด์มาเล่า ได้แก่ 1.Direct to Consumer : DTC เมื่อแบรนด์ต้องการขายสินค้าตรงดิ่งถึงผู้บริโภคมากขึ้น
โควิดรอบแรกทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมช้อปออนไลน์โตแรง ระบาดรอบหลังออนไลน์อาจโตน้อยลง แต่แนวโน้มยังขยายตัวต่อ ซึ่งแบรนด์จำนวนมาก ลุกมาทำตลาด ขายสินค้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นโคคา-โคล่า ไนกี้ 2.Social Commerce วันนี้บุคคล ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลุกขึ้นมาขายของผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Facenbook TikTok Instagram ฯ ซึ่งแบรนด์สามารถสื่อสารคอนเททนท์ สร้างคุณค่า กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคแบบปัจจุบันทันด่วนได้(Impulse) แต่ความท้าทายต้องสร้างประสบการณ์ช้อปแบบไร้รอยต่อให้ผู้บริโภค
3.Omni-Channel/ O2O การขายสินค้าไม่ต้องแบ่งโลกออฟไลน์-ออนไลน์ แต่แบรนด์ต้องเชื่อมทุกช่องทางให้เข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้บริโภค ปัจจุบันบิ๊กค้าปลีกของไทยลุกขึ้นมาสร้างช่องทางขายแบบ “ออมนิแชนแนล” มากขึ้น เช่น บิ๊กซี เซ็นทรัล ที่ลงทุนมหาศาลในการยกระดับช่องทางขาย รองรับความต้องการของลูกค้า
และ4.Live Commerce ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตลาดชอปปิง Live Commerce รุดหน้า จากการสำรวจผู้บริโภคในกรุงเทพฯพบ 60% มีการซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์ และ 30% รู้จักไลฟ์ คอมเมิร์ซ แต่ยังไม่ลองซื้อ “ช่องว่าง” ดังกล่าว จึงเป็นโอกาสสร้างกาารเติบโตในอนาคต
จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบร้าน เพจดังที่ใช้กลยุทธ์ “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” โกยยอดขายมีจำนวนมาก เช่น พิมรี่พาย ฮาซันอาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล ฯ ปัจจุบันการไลฟ์ขายสินค้าขยายวงกว้างไปสู่หลายหมวด ไม่เว้นกระทั่ง “การบูชาพระเครื่อง”
ขณะที่ มายด์แชร์ ย้ำทิศทางอนาคตไม่ควรแบ่ง “E-Commerce” อีกต่อไป แต่มองการค้าขายเป็นหนึ่งเดียวกันหรือแค่ Commerce ทั้งนี้ช่วงโควิดระบาด ทำให้การชอปปิงออนไลน์ในไทยโต 39% เอเชียโต 50% และตลาดโลกโตถึง 80% คนไทย 71% ช้อปออนไลน์เฉลี่ย 2 เดือนครั้ง และ 81% นิยมช้อปผ่านมือถือ ที่สำคัญการเติบโตมีถึง 31% ด้านเม็ดเงินในตลาดสะพัด 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับคาดการณ์ปี 2568 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะเข้าถึงประชากรราว 62% หรือมีผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 43 ล้านราย จากปัจจุบัน 36 ล้านราย รูปแบบโซเชียลคอมเมิร์ซจะเข้าถึง 83% ของประชากร โดยรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า 1 รายต่อปี(Average Revenue Per User:ARPU)จะอยู่ที่ 283.33 ดอลลาร์ จากเดิม 243.17 ดอลลาร์
ทั้งนี้ สิ่งที่แบรนด์ต้องตระหนักในการขายสินค้ารับอนาคตคือ การส่งสินค้าเร็วขึ้น ซึ่งพบว่าผู้บริโภคมีความคาดหวังจะได้สินค้าภายใน 24 ชั่วโมง การขายสินค้าจากแบรนด์ตรงถึงผู้บริโภค(D2C)ทวีความสำคัญขึ้น และต้องสร้างประสบการณ์ชอปปิงใหม่ๆให้ผู้บริโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอน Agility ในการปรับตัวสำหรับนักการตลาดยังสำคัญเสมอ เพื่อขบคิดกลยุทธ์ ติดอาวุธการตลาดเคลื่อนธุรกิจให้รอดและเติบโตได้ทุกสภาวะ