โควิด ‘ซา’ ถึงเวลาเปิดเมือง? พร้อมหรือไม่!

โควิด ‘ซา’ ถึงเวลาเปิดเมือง? พร้อมหรือไม่!

ไทยพร้อมหรือไม่ เปิดเมืองรับต่างชาติ​ ท่ามกลางสถานการณ์​ผู้ติดเชื้อโควิด19​ ในประเทศวันละหมื่นกว่าราย​ ฟังมุมมองทางการแพทย์​ กับ​ พล.อ.ท. นพ.อนุตตร​ จิตตินันทน์​ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

5 เดือนของการระบาดระลอกใหญ่ กับภาระงานในโรงพยาบาล......

วันนี้ครบ 5 เดือน ตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ ที่มีการรายงานข้อมูลการนอนโรงพยาบาลโดยกรมควบคุมโรค ที่ผมได้นำมาเสนออย่างต่อเนื่อง ตอนนี้แนวโน้มของภาระงานใน รพ.ดูค่อย ๆ ดีขึ้นครับ

ผู้ป่วยรักษาอยู่ทั้งหมด ผู้ป่วยรักษาอยู่นอก รพ.มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลง แต่เริ่มทรงตัวมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์

ผู้ปวยรักษาใน รพ.ลดลงมากในช่วงปลาย ส.ค.แล้วเพิ่มขึ้น แต่ค่อนข้างทรงตัวมาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว

ผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเป็นแบบเดียวกับการเสียชีวิตที่ค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน

ผมลองทำกราฟใหม่ ดู % ของผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมดพบว่าลดลงจากที่เคยสูงสุดตอนเดือนมิถุนายน 5.5% เหลือ 3.2% อาจเป็นผลส่วนหนึ่งจากการที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่ช่วง มิ.ย.ทำให้ % ผู้ป่วยอาการหนักลดลง

เมื่อดู % ของผู้ป่วยหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจเทียบกับผู้ป่วยที่นอน รพ.ดูแปลก ๆ คงขึ้นกับนโยบายของการรับผู้ป่วยไว้ใน รพ.ในแต่ละช่วงเวลา โดยจะพบว่าลดลงค่อนข้างมาก จากเคยสูงสุดถึง 42.3% ในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่มีสถิติผู้ป่วยนอน รพ.ลดลงต่ำสุด ลงมาเหลือ 10% แสดงถึงภาระงานใน รพ.ที่มีการลดลงของ % ผู้ป่วยหนักอย่างชัดเจน

อ่านข่าว : ส่องบทเรียน “แซนด์บ็อกซ์” พลาดเป้า! ก่อนเปิดเมือง 5 จังหวัดรวม “กรุงเทพฯ”

ภาระงานการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ใน รพ.ส่วนใหญ่น่าจะดีขึ้น จึงอยากให้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ได้มีโอกาสในการเข้ารักษาพยาบาลให้มากขึ้นครับ อย่างผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยทำหัตถการต่าง ๆ ผู้ป่วยให้เคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ต้องการการตรวจวินิจฉัยพิเศษ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ได้มาพบแพทย์เป็นเวลานาน กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้เสียโอกาสในการเข้ารักษาพยาบาลมาเกือบ 2 ปีแล้ว ทำให้การพยากรณ์โรคในกลุ่มนี้แย่กว่าช่วงก่อนโควิดมาก พร้อมกันนั้นก็อย่าเพิ่งประมาท ควรกลับมาทบทวนกระบวนการดูแลผู้ป่วยเพื่อเตรียมการรับโควิด 19 ที่อาจจะกลับมาเพิ่มจำนวนผู้ป่วยขึ้นอีกระลอกได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งวางใจครับ ระลอกถัดไปจะมาอีกเมื่อไหร่ไม่รู้ ถ้าเราประมาทยิ่งทำให้ระลอกถัดไปเกิดเร็วและรุนแรงขึ้น อย่าลืมป้องกันตัวเองโดยคิดเสมอว่าทุกคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อและผิวสัมผัสอาจแพร่เชื้อมาให้เราได้ทุกเมื่อ เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่มากส์อย่างถูกต้องกันต่อเนื่องครับ แล้วอย่าลังเลในการเข้ารับวัคซีนเมื่อมีโอกาสกัน อาจไม่ได้ช่วยลดการเป็นโควิด 19 ได้มาก แต่ช่วยให้ลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด 19 ครับ

จะเปิดเมืองเปิดประเทศก็คงต้องพิจารณาให้ดีนะครับ อย่าเพิ่งไปเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เขาเปิดประเทศกัน อย่างที่อังกฤษคนเข้าชมฟุตบอลกันเต็มสนาม เพราะประเทศเหล่านั้นได้รับวัคซีนกันเยอะ ทำให้ถึงแม้จะพบคนติดเชื้อมีมาก แต่ผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตไม่มากนัก แต่ของเราเข็มสองยังได้กันไม่ถึงเป้าหมายครับ แล้วตอนนี้เป้าหมายอาจต้องเพิ่มขึ้นอีกจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา การเอาตัวเลขการรับวัคซีนเข็มเดียวคงไม่ช่วยอะไร เพราะวัคซีนเข็มเดียวกับสายพันธุ์เดลตาได้ประโยชน์น้อยมากครับ อย่างน้อยต้องได้ 2 เข็มครบ แล้วต้องรออีก 2 สัปดาห์อย่างน้อย ภูมิคุ้มกันจึงจะมีพอครับ