ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังคาดอุปสงค์เติบโตต่อเนื่องสูงกว่าอุปทาน

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังคาดอุปสงค์เติบโตต่อเนื่องสูงกว่าอุปทาน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังคาดอุปสงค์เติบโตต่อเนื่องสูงกว่าอุปทาน

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 ก.ย. - 1 ต.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าปริมาณการผลิตที่กลับมาเพราะแท่นขุดเจาะมีความเสียหายและคาดจะต้องใช้ระยะเวลาจนถึงปลายปีในการซ่อมแซม นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนและในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูง และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศเริ่มลดมาตรการจำกัดการเดินทางและเปิดประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดจะผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-    ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณการผลิตและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ย. 64 ปรับตัวลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 414 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

-    ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มปรับลดลงและการฉีดวัคซีนปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯ อนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติกว่า 33 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ครบทั้ง 2 เข็มแล้วและมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ สามารถเดินทางเข้ามายังสหรัฐฯ ได้ในเดือน พ.ย. นี้เป็นต้นไป โดยการผ่อนปรนมาตรการในครั้งนี้จะทำให้นักเดินทางไม่ต้องกักตัว ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 แสนบาร์เรลต่อวัน

-    การกลับมาดำเนินการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกยังล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ หลังแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของบริษัท Shell ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนไอดา ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตให้หายไปราว 0.2 – 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดจะสามารถกลับมาผลิตได้อย่างเร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2564 

-    จับตาการประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร (โอเปคพลัส) ในวันที่ 4 ต.ค. ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะมีการเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตตามแผนเดิมหรือไม่ หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและผู้ผลิตบางประเทศออกมาเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มโควต้าการผลิตขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตมีการเพิ่มกำลังการผลิตที่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.64 เป็นต้นไปจนกว่าระดับการผลิตที่ทางกลุ่มมีการปรับลดตั้งแต่ต้นปี 64 จะหมดลงในเดือน ก.ย. 65 
 

-    ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังตลาดมีความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในจีนที่อาจจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่มีแนวโน้มจะปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ในการประชุมเดือน พ.ย. และคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในกลางปีหน้า อย่างไรก็ตาม จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำจนถึงปีหน้า

-    การผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังก่อนหน้านี้มีการปรับลดแท่นขุดเจาะลงในช่วงที่เกิดพายุเฮอร์ริเคนไอด้าและนิโคลาส โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่นไปอยู่ที่ระดับ 421 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 

-    เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการจีนเดือน ก.ย. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการยูโรโซน เดือน ก.ย. 64 และ GDP ไตรมาส 2/2564 ของสหรัฐฯ
 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 - 24 ก.ย. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 73.98 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 78.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 3.5 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาอุปทานขาดแคลน ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำการผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติเนื่องจากราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังเผชิญกับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ทยอยกลับมาและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในจีนที่เผชิญกับปัญหาการชำระหนี้