ซื้อ ‘ประกันที่อยู่อาศัย’ เลือกอย่างไร ให้ได้ชดเชยเมื่อ ‘น้ำท่วมบ้าน’
กันไว้ดีกว่าแก้! เตรียมความพร้อมรับมือกรณี "น้ำท่วมบ้าน" เมื่อ "น้ำท่วม 2564" ยังไม่จบง่ายๆ ชวนเช็ค "ประกันที่อยู่อาศัย" แบบไหนคุ้มครอง "น้ำท่วม" จากธรรมชาติบ้าง และเลือกอย่างไรให้เหมาะสม
ทุกครั้งที่มี "ภัยน้ำท่วม" เกิดขึ้น เหตุการณ์ "น้ำท่วมบ้าน" สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและตัวบ้าน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการวางแผน "ประกันภัย" สำหรับ "ที่อยู่อาศัย" ไว้ล่วงหน้า
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปเช็คประกันที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ ที่เป็นตัวช่วยรับแรงกระแทกเมื่อบ้านของเราตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงน้ำท่วม มีโอกาสได้รับเงินชดเชยครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งมีหลากหลายแบบ
- ประกันอัคคีภัย
"ประกันอัคคีภัย" เป็นการทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยที่กฎหมายบังคับให้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ทำเพื่อป้องกันภัยจากไฟเป็นหลัก
ประกันอัคคีภัยมักจะให้ความคุ้มครองในระยะสั้น ประมาณ 1-3 ปี ค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและลักษณะของอาคาร โดยจะให้ความคุ้มครองภัย 6 อย่าง ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน และภัยเนื่องจากน้ำ (ภัยที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากน้ำเท่านั้น เช่น น้ำรั่ว น้ำไหลล้นจากท่อน้ำ ถังน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางท่ออากาศที่ชำรุด โดยไม่รวมน้ำท่วมจากภัยธรรมชาติ)
หมายความว่า "ประกันอัคคีภัย" ไม่ครอบคลุมกรณี "น้ำท่วม" ที่มาจากภัยธรรมชาติ และท่อประปาที่แตกจากนอกอาคาร
- ประกันคุ้มครองเรื่อง "ภัยพิบัติ"
หากต้องการเคลมประกันจากเหตุการณ์น้ำท่วมจากธรรมชาติ เจ้าของบ้านจะต้องทำประกันเพิ่มให้ครอบคลุมกรณี "น้ำท่วม" จากภายนอกเพิ่มเติมเอง
โดยปัจจุบันมีประกันที่อยู่อาศัยหลายบริษัทที่เปิดขายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยพิบัติ หรือประกันน้ำท่วมโดยเฉพาะ
ประกันประเภทนี้จะช่วยคุ้มครองเพิ่มเติมเมื่อเกิดจากภัยธรรมชาติต่างๆ ด้วย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ภัยลูกเห็บ รวมถึงสินามิ หรือตามรายละเอียดในกรมธรรม์โดยจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามการเลือกของแต่ละกรมธรรม์
- วิธีและขั้นตอน "เคลมประกัน" เบื้องต้น เมื่อน้ำท่วมบ้าน
หลังจากน้ำท่วมบ้าน นอกจากต้องจัดการสิ่งของในบ้านให้พ้นจากน้ำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าแล้ว อย่าลืมเตรียมหลักฐานต่างๆ ไว้สำหรับเคลมประกันด้วย โดยเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ที่ควรมีเบื้องต้น มีดังนี้
1. ถ่ายรูปไว้ทั้งระหว่างน้ำท่วมและหลังจากน้ำลดแล้ว และเมื่อเกิดเหตุต้องรีบแจ้งให้บริษัทรับทราบทันที
2. เตรียมหลักฐานและเอกสารให้บริษัทฯ โดยเร็ว ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เกิดความเสียหาย ดังนี้
- หนังสือเรียกร้องความเสียหาย ซึ่งจะต้องแจ้งรายละเอียดทรัพย์สินและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น
- ภาพถ่ายความเสียหาย (แสดงสภาพทั่วไปของสถานที่เอาประกันภัย และบริเวณที่ได้รับความเสียหาย)
- หากทำประกันภัยบ้านหรือทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัยอื่นมากกว่า 1 บริษัท จะต้องแจ้งให้บริษัทฯทราบด้วย
3. เตรียมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องตามที่บริษัทฯ ร้องขอ เช่น เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย สำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น