“การบินไทย” เร่งแผนหา "เงินทุนใหม่" เปิดขายตั๋วยุโรป-ญี่ปุ่น 1 ต.ค. นี้
“การบินไทย” เปิด 2 แนวทางหา “เงินทุนใหม่” 5 หมื่นล้านบาท ทั้งกู้สถาบันการเงินและขอรับการสนับสนุนจากรัฐ เดินหน้าลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเหลือ 5.3 หมื่นล้านในปีหน้า เผย 1 ต.ค.นี้ เปิดขายตั๋วเส้นทางหลัก
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนที่บริษัทดำเนินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 โดยตามแผนธุรกิจใน 2 ปี (2564-2565) บริษัทต้องการเงินทุนใหม่ประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ 1.จากสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน หรือ บุคคลทั่วไป และ 2. จากภาครัฐให้การสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่เป็นการค้ำประกัน ซึ่งระหว่างนี้บริษัทได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ทำงบทางการเงินใหม่ หลังจากผลการดำเนินงานในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น ทำให้แผนการใช้เงินของบริษัทเปลี่ยนไปในทิศทางทีดีขึ้น รวมถึงการทำประมาณการใหม่ของบริษัท หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ (โควิด-19)
รวมทั้งบริษัทยังดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจให้ดำเนินธุรกิจแบบภาคเอกชน เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน ซึ่งอนาคตจะส่งผลให้ต้นทุนลดลงด้วย โดยบริษัทวางวิชั่น (vision) ใหม่ จากเดิมเป็นสายการบินพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ ที่อยู่ระดับ 5-6 ดาว มาเป็นสายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ
ขณะที่ ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 การบินไทย เตรียมเปิดขายตั๋วโดยสารสำหรับเส้นทางระหว่างประเทศ โดยจะเปิดทำการบินเที่ยวบินปกติบางจุดบินในประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่นบางเมือง รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดหลัก หลังจากประชาชนในประเทศเหล่านี้ได้รับวัคซีนในสัดส่วนราว 70% ส่วนตลาดจีนคาดว่าจะเปิดทำการบินได้ในปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่ารายได้จากผู้โดยสารในช่วงที่ยังทำการบินไม่ได้ และหน่วยธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้น ที่สนับสนุนเข้ามา รวมถึงการขายสินทรัพย์ที่เห็นว่าบริษัทไม่ได้ใช้ในอนาคตอีก และขายเงินลงทุนใน บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK)
ขณะเดียวกัน บริษัทก็ดำเนินการลดต้นทุนต่อเนื่อง โดยวางเป้าลดต้นทุนจำนวน 5.3 หมื่นล้านบาทภายในปี 65 ปัจจุบันทำได้ตามแผนแล้ว 4.42 หมื่นล้านบาท โดยได้ดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายที่มีกว่า 600 โครงการ
รวมทั้งบริษัทได้ปรับลดจำนวนฝูงบินที่มี 100 ลำ ซึ่งบริษัทวิเคราะห์ว่าควรมีจำนวนเครื่องบินอยู่เท่าใดจึงจะเหมาะสม เพื่อควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน โดยคงจำนวนเครื่องบินไว้ 58 ลำ ส่วนอีก 42 ลำอยู่ระหว่างการขาย คาดว่าภายในปีนี้น่าจะขายได้ทั้งหมด
สำหรับเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ซึ่งบริษัทมีอยู่จำนวน 6 ลำ โดยเป็นเจ้าของ 2 ลำ ซึ่งปัจจุบันรอการขาย และคืนให้ผู้เช่าอีก 4 ลำ ที่อยู่ระหว่างส่งมอบ เนื่องจากปัจจุบันแทบทุกสายการบินไม่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้แล้ว และรอขายเช่นก้น เนื่องจากเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง และมีขนาดกว่า 500 ที่นั่ง แต่หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้โดยสารจะเปลี่ยนไป การเดินทางคงไม่มากเหมือนในอดีต และก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัทต้องลดขนาดองค์กร (downside)