‘เมย์แบงก์ฯ’ ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย-ลดคิวอี กระทบหุ้นไทยจำกัด
"เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" ประเมินเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หลังเฟดส่งสัญญาณลด QE เดือน พ.ย.64 คาดเห็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ก.ย.65 แต่ประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด เหตุฟันด์โฟลว์ยังขายสุทธิ
นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากบทสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) เดือน ก.ย. ในวันที่ 21-22 ก.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ระบุจุดเริ่มต้นการลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE Tapering) แต่ในทางกลับกันมีการส่งสัญญาณว่าการลดขนาด QE จะสิ้นสุดลงประมาณกลางปี 2566
หากพิจารณาจากวงเงินการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และตราสารหนี้ที่มีหลักประกัน (MBS) 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการลดขนาดซื้อสินทรัพย์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ลดลง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ MBS 0.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ดังนั้น จึงประเมินว่าจุดเริ่มต้น QE Tapering จะเป็นเดือน พ.ย.2564 และเฟดจะประกาศจบโครงการ QE อย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือน มิ.ย.2565
นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณต่อมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็น (Dot Plot) ซึ่งบ่งชี้โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม (สมาชิกเฟดจำนวน 9 ราย ให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปี 2565 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 7 ราย ในการประชุมเดือน มิ.ย.) นอกจากนี้ หากประเมินลงในรายละเอียดจะพบว่า 3 ใน 9 ราย ให้น้ำหนักการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง
นั่นหมายความว่า หากโครงการ QE สิ้นสุดในเดือน มิ.ย.2565 และจากสมมติฐานที่ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในการประชุม FOMC ครั้งใหญ่ในเดือนสุดท้ายของแต่ละไตรมาส นั่นคือเฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย.2565 (แต่ยังเป็นมุมมองของสมาชิกส่วนน้อยจำนวน Fed 3 ราย จากสมาชิกที่ลงมติทั้งหมด 18 ราย)
จุดเริ่มต้นเข้าสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายกลับสู่ภาวะปกติที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งจากทางฝั่งเฟดถือเป็นธนาคารกลางชาติมหาอำนาจประเทศแรกที่ส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการ และน่าจะตามมาด้วยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุด (9 ก.ย.) มีการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าขนาดการซื้อคืนสินทรัพย์ในโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด (PEPP) ในไตรมาส 4 ปี 2564 จะต่ำกว่าในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา
แม้ว่าการลดขนาดการกระตุ้นด้านการเงินทั่วโลก จะบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวกลับมาจากภาวะวิกฤตได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในทางกลับกันก็ทำให้สภาพคล่องในระบบจากการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อยๆ ลดลง กดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งหากย้อนไปมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลดขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งที่ผ่านมา (QE Tapering Tantrum 2556) พบว่าหลังการประกาศอย่างเป็นทางการตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ช่วงการปรับสมดุล
สำหรับผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยน่าจะจำกัด เนื่องจากภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันแตกต่างจากหุ้นไทยในช่วง QE Tapering ปี 2556 อยู่หลายประการ เช่น 1. ตลาดหุ้นไทยอยู่ในกลุ่มที่ไม่โดดเด่น (Underperform) หากเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป เมื่อเทียบกับช่วงการส่งสัญญาณ QE Tapering ปี 2556 ที่ตลาดหุ้นไทยโดดเด่น (Outperform) ตลาดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สภาพคล่องที่อาจลดลงคาดจะกระทบตลาดหุ้นไทยจำกัด
2. ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ประโยชน์จากสภาพคล่องการทำ QE และโครงการ PEPP สะท้อนจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงถึงระดับ 2.65 แสนล้านบาท ต่างจากในช่วง 2552-2556 ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงถึง 1.96 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงคาดผลกระทบรอบนี้ต่อ SET จึงน่าจะจำกัดเช่นกัน