“เกษตรแม่นยำ”ทางสู้ สู่สิ่งท้าทายความไม่แน่นอน

“เกษตรแม่นยำ”ทางสู้  สู่สิ่งท้าทายความไม่แน่นอน

ความท้าทาย ของการผลิตภาคการเกษตรคือความไม่แน่นอนของภาวะอากาศหรือ แม้แต่ศัตรูพืช รวมไปถึงภาวะตลาดที่พบว่าราคาผันผวนแบบไม่สามารถคาดการณ์ได้ เมื่อความไม่แน่นอนคือความท้าทาย ที่กำลังจะได้รับการแก้ไขด้วยโครงการ“เกษตรแม่นยำ” นับเป็นความพยายามที่น่าจับตามอง

หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)ดำเนินโครงการ โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม” จากระยะที่ 1 ในปีที่ผ่านมา พบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้ง 2 หน่วยงานจึงเห็นชอบจะขยายโครงการในระยะ ที่ 2 ในพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ในปี 2566

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่าเกษตรแม่นยำครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานรับซื้อ ผ่านกลไกคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่และบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีตลาดอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2564 –2566)

“เกษตรแม่นยำ”ทางสู้  สู่สิ่งท้าทายความไม่แน่นอน

สำหรับการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 มีสินค้าเกษตรเป้าหมาย5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ พื้นที่รวม 298,084 ไร่ เกษตรกร 25,286 ราย ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 32 จังหวัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 7 บริษัท

โดยเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ด้านการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน ซึ่งจะระบุถึงพื้นที่เป้าหมาย เกษตรกรเป้าหมาย คุณลักษณะ (SPEC) ผลผลิตที่โรงงานต้องการ ราคาตามชั้นคุณภาพของผลผลิต รวมถึงปริมาณและช่วงเวลาการรับซื้อที่มีความสมบูรณ์ เป็นข้อตกลงร่วมกันป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เร่งประชุมหารือร่วมกับโรงงานรับซื้อผลผลิต และประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งเชิญชวนให้เกษตรกรเครือข่ายของโรงงานรับซื้อผลผลิตจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่และเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ทันก่อนฤดูการเพาะปลูก

ส่วนการดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดพื้นที่และสินค้าเป้าหมายในเบื้องต้นมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิด พื้นที่รวม 1,762,684.14 ไร่ เกษตรกร 134,310 ราย ครอบคลุมพื้นที่ เป้าหมาย 42 จังหวัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 16 บริษัท

สมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการในปีที่ผ่านมา พบประเด็นปัญหาปลีกย่อยมากมาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขในโครงการระยะที่ 2 นี้ได้ ถือเป็นโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง มี โดยปัจจุบันที เกษตรกรเข้าร่วม 1.7 แสนราย อยากให้เพิ่มเป็น 4-5 ล้านคน พื้นที่ 40-50 ล้านไร่ จะส่งผลให้สินค้าที่มีคุณภาพมีมากขึ้น โดยมีภาครัฐมาช่วยสนับสนุนคาดว่าจะส่งผลให้ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน

ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่าการปฏิวัติภาคการเกษตร เป้าหมายเพื่อเกษตรปลอดภัย และผลักดันให้เกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์นั้น ต้องใช้เทคโนโลยี แม่นยำเข้ามาช่วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งสินค้าเข้สู่กระบวนการแปรรูปอย่างมีคุณภาพ

เฉลิม โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Thai Eastern Group Holdings Co., Ltd. กล่าวว่า บริษัทเข้าร่วมโครงการระยะแรก ในโครงการแปลงใหญ่ ยางพารา ซึ่งพื้นที่เข้าร่วมโครงการกว่า 3 หมื่นไร่ ซึ่งบริษัทส่งเสริมให้พื้นที่เหล่านี้ ได้รับการรับรองให้ได้มาตรฐาน FSC ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งยางแห้งที่เข้าร่วมโครงการสามารถขายได้ราคาเพิ่มขึ้นจากตลาดกว่า 3 บาท ต่อกิโลกรัม ในโครงการระยะที่ 2 นี้ เกษตรกรใน จังหวัดสระแก้ว ตราด สนใจเข้าร่วม ด้วย