ไทยเบฟ ปลดล็อก อาณาจักรอาหารเครื่องดื่ม ลุยซัพพลายเชน รถอีวี
การวัดขุมพลัง ใครคือยักษ์ใหญ่ธุรกิจ ต้องเทียบหมัดต่อหมัด ไทยเบฟ "ปลดล็อก" ธุรกิจ แยก BeerCo Group เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ศึกษาโอกาสซัพพลายเชน ทุ่มทุนลุยรถยนต์อีวี สร้างคุณค่า ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ย้ำผู้นำอาณาจักรอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน
ไทยเบฟ” ยักษ์ใหญ่อาหารเครื่องดื่มครบวงจรของไทยและอาเซียน เลี่ยงผลกระทบโควิดไม่พ้น แต่การปรับตัว บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ทำให้ยังรักษาการเติบโตของ “กำไรก่อนหักภาษี”(Ebitda) 9 เดือน เติบโต 11.5% คิดเป็น 36,638 ล้านบาท เช่นเดียวกับการลงทุน ครึ่งปีแรก 2564 ใช้จ่ายกว่า 1,660 ล้านบาท จากปีก่อนลงทุนกว่า 5,400 ล้านบาท
ท่ามกลางโรคระบาด บริษัทยังเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามแผน 2025 หรือ Passion to Win 2025 ภายใต้ 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.การตัดสินใจลงทุนเรื่องสร้างแบรนด์ ยกระดับเทคโนโลยี และลงทุนด้านทุนมนุษย์ 2.สรรสร้างความสามารถในการเติบโตทั้งเกาะเทรนด์สินค้าสุขภาพ พัฒนาช่องทางจำหน่ายดิจิทัล และขยายตลาดใหม่ 3.เสริมสร้างความแข็งแกร่ง ทั้งซีนเนอร์ยีสินค้า เติมเต็มตลาด 4.ปลดปล่อยศักยภาพของบริษัท เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น 5.การผนึกกำลังทรัพยากรมนุษย์ เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างวิกฤติให้เกิดขึ้นและทุกคนผ่านพ้นช่วงดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งขณะนี้คนไทยและทั้งโลกประเมินว่าไวรัสจะไม่หายไปไหน และต้องอยู่กับโรคดังกล่าว พร้อมปรับตัว ใช้ชีวิตประจำวันให้คุ้นชิน สร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพ
ขณะที่ไทยเบฟ เป็นผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรของไทยและอาเซียนหรือโททัล เบฟเวอเรจ ได้เผชิญการปรับตัวรับสถานการณ์โรคโควิด-19ระบาด และยังเป็นห้วงเวลาที่บริษัททรานสฟอร์มจากวิชั่น 2020 สู่แพชชั่น 2025 ซึ่งจากปีนี้บริษัทเชื่อมั่นว่าองค์กรจะแข็งแกร่งกว่าเดิม สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
- ไทยเบฟ Top 10 ยักษ์เครื่องดื่มเอเชีย
“ผู้ประกอบการเครื่องดื่มในเอเชียได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ไทยเบฟยังทำกำไรก่อนหักภาษีโต 11.5% ปัจจุบันมูลค่าตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปเราอาจอยู่อันดับ 10 แต่ด้านยอดขายอยู่อันดับ 7 ของเอเชีย”
ทั้งนี้ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของแพชชั่น 2025 คือการปลดล็อกศักยภาพไทยเบฟ หรือ Unlock the value ทั้งกลุ่มสินค้า คน อสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร เพื่อสร้างคุณค่าและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้น ล่าสุด คือการจัดกลุ่มธุรกิจเบียร์ภายใต้เบียร์โค(BeerCo Group) แยกออกมา และนำเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนครั้งแรก(ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และเดือนมีนาคม 2564 แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
บริษัทยังศึกษาความเป็นไปได้ในการปลดล็อกธุรกิจโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า พิจารณาสินทรัพย์ทั้งคลังสินค้า และหน่วยรถจะปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)ซึ่งจะเห็นการลงทุนในปี 2566 เห็นผลลัพธ์ปี 2567
ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินและบัญชี ธุรกิจต่างประเทศ ฯ ฉายภาพธุรกิจสุรา ยังคงทำรายได้และกำไรสูงสุดให้บริษัท และจากการระบาดของโควิดกระทบช่องทางจำหน่ายผับ บาร์ สถานบันเทิง และร้านอาหาร แต่สุราสี สุราขาวยังเติบโต เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อไปดื่มที่บ้าน โดยสุราขาวรวงข้าวยังเป็นเบอร์ 1 ในไทย สุราสีแสงโสมเติบโตกว่า 13% เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์โต 26% เมอริเดียนบรั่นดีโต 39% คูลอฟวอดก้า เปิดตัว 3 ปี มีส่วนแบ่งตลาด 32% เป็นผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสุราหากต้องการโตตามแพชชั่น 2025 จะต้องขยายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น ทั้งเวียดนาม เมียนมา เพราะตลาดไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดแล้ว อย่าง "สุราขาว" เรียกว่าครองเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 97% ยากที่ "คู่แข่ง" จะเจาะยางได้ ขณะที่การเติบโตในตลาดใหม่ เวียดนาม มีการส่งสุราขาวเสิร์ฟผู้บริโภค ส่วนเมียนมา มีแกรนด์รอยัล เจ้าตลาดที่ไทยเบฟไปซื้อกิจการมา จากนี้ ต้องเสริมทัพสุราสี สุราอื่นๆ ทำให้พอร์รโฟลิโอแข็งแรงขึ้น
เลสเตอร์ ตัน ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเบียร์ในไทยหดตัว 20% แต่ไทยเบฟยังเติบโตแข็งแกร่ง เบียร์ช้างมีส่วนแบ่งทางการตลาด 40% เติบโตขึ้นและลดช่องว่างจากคู่แข่งน้อยลง ส่วนในอาเซียนไทยเบฟและไซง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (ซาเบโก้) มีส่วนแบ่งตลาด 33% เป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาค
- “แพชชั่น 2025 เราจะผลักดันส่วนแบ่งเบียร์ในไทยเป็นผู้นำตลาด”
การจะโค่นผู้นำตลาดเดิม เพื่อขึ้นไปแทนที่ ไทยเบฟ พยายามผลักดันเบียร์ให้เข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมมากขึ้น เพื่อเสริมภาพลักษณ์นักดื่ม ที่ผ่านมา มีช้างโคลด์บริว พลิกโฉมในรอบ 20 ปี หรือมีช้างเอสเพรสโซ บุกตลาด เป็นต้น
กลยุท์ที่อัดแน่นไม่พอ เพราะหนึ่งในหัวใจสำคัญเคลื่อนธุรกิจคือ แม่ทัพ ซึ่ง เลสเตอร์ เคยทำไทเกอร์ เบียร์ในสิงคโปร์มายาวนาน เมื่อมาอยู่ในเครือไทยเบฟ ได้ไปดูธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ระยะหนึ่ง ก่อนกลับมาสู่วงการเดิม ซึ่งเจ้าตัวเปรยว่าท้าทายมาก เพราะตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยเต็มไปด้วย "ข้อห้าม" ทำการตลาด ขายออนไลน์ ขณะที่เพื่อนบ้านล้ำหน้าไปทั้งนวัตกรรมจำหน่ายเบียร์ ขายออนไลน์ ทำตลาดได้นั่นเอง
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) เล่ายุทธศาสตร์ธุรกิจอาหารในปี 2025 จะต้องเป็นแบรนด์อันดับ 1 และเป็นที่รักของผู้บริโภค รวมถึงมีรายได้เป็นผู้นำตลาด จากปัจจุบันเป็น Top3 แนวทางสร้างการเติบโตจะขยายสาขาร้านอาหารเพิ่มเน้นทำเลนอกห้างค้าปลีก ลดความเสี่ยง รวมถึงบุกตลาดอาเซียน ปัจจุบันบริษัทมีร้านอาหาร 23แบรนด์ จำนวน 673 สาขา