ครม.สั่งคุมเข้มแผนก่อหนี้ 4 รัฐวิสาหกิจ รายได้ต่ำกว่าความสามารถชำระหนี้
การแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ "รัฐวิสาหกิจ" เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำแผนเพื่อฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ เพื่อหาทางแก้ปัญหา ลดภาระขาดทุน ซึ่งมีทั้งแผนการเพิ่มประสิทธิภาพ หารายได้เพิ่ม และลดต้นทุแต่ยังมีหลายแห่งที่มีหนี้สูงต้องเฝ้าระวัง
จากปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งลดลง มีภาระหนี้สินมากขึ้น บางแห่งต้องมีการกู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือจ่ายดอกเบี้ยเดิม โดยหนี้ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมบางส่วนเป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปค้ำประกันและได้มีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบในการพิจารณาแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2565 ที่ ครม.ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา
หากพิจารณาดูในรายละเอียดแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2565 มีการรวมเอาหนี้ของรัฐวิสาหกิจเข้ามาทั้งในแผนบริหารหนี้เดิมและแผนบริหารหนี้ใหม่ 275,792.17 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนบริหารหนี้ใหม่ 141,008.63 ล้านบาท และแผนบริหารหนี้เดิม 134,783.54 ล้านบาท
โดยในการก่อหนี้เพิ่มเติมของรัฐวิสาหกิจ ครม.ได้รับทราบความจำเป็นในการกู้เงินที่มีความจำเป็นในหลายโครงการที่ให้รัฐวิสาหกิจมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีหลายโครงการที่ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีให้กระทรวงการคลังกู้เงินแล้วให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ เช่น การกู้เงินวงเงินรวม 5.5 หมื่นล้านบาทเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพฯ- หนองคาย (รถไฟไทย-จีน ) ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟทางคู่ และทางรถไฟตามแผนอีก 6 เส้นทาง เป็นต้น
อ่านข่าว : ส่องสถานะ "รัฐวิสาหกิจ" หลังโควิด แนวโน้มฟื้นตัว ลงทุนเพิ่ม – กำไรโต
ในการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 ครม.ได้มีการพิจารณาถึงสัดส่วนทางการเงินที่สำคัญ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่ระบุว่ารัฐวิสาหกิจที่จะมีการกู้เงินต้องมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ration :DSCR) นับแต่มีการก่อหนี้ในอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 1 เท่า โดยหากมีความจำเป็นต้องกู้เงินแต่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ให้รัฐวิสาหกิจนั้นๆเสนอเหตุผลและความจำเป็น แนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนบริหารหนี้ที่ชัดเจนต่อคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอความเห็นในการกู้เงินต่อ ครม.
ทั้งนี้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2565 มีรัฐวิสาหกิจจำนวน 4 แห่งที่มีค่า DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งต้องเสนอขออนุมัติต่อ ครม. ได้แก่
1.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มี DSCR เท่ากับ 0.74 เท่า
โดย การขอบรรจุวงเงินในแผนฯ ปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วยแผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1.08 หมื่นล้านบาท โดยเป็นวงเงินให้กู้ต่อจากกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในโครงการระบบรถไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลที่รัฐรับภาระทั้งหมด แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.87 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เงินให้กู้ต่อจากกระทรวงการคลังที่รัฐรับภาระทั้งหมด และแผนการชำระหนี้วงเงิน 7.9 พันล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่ รฟม. ขอรับจัดสรรบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565ที่รัฐรับภาระ ชำระหนี้เงินต้น วงเงิน 3.5 พัน ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย วงเงิน 4.35 พันล้านบาท
ทั้งนี้ภาระหนี้ของ รฟม. เกิดขึ้นจากการกู้เงินจากกระทรวงการคลังเพื่อนำมาลงทุนในโครงการระบบรถไฟฟ้าในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลรับภาระการลงทุนทั้งหมด ดังนั้น รฟม.จึงสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาล เพื่อชำระหนี้ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยและเงินต้นได้ สำหรับภาระหนี้ที่มีวงเงินที่ครบกำหนดจำนวนมากในแต่ละปี เห็นควรให้มีการกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ของหน่วยงานและความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปีเห็นชอบให้นำเสนอเหตุผลความจำเป็น แนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนของ รฟม. ต่อ ครม.
2.การรถไฟแห่งประเทศไทย DSCR เท่ากับ 0.52 เท่า
โดยมีการกู้เงินและการบริหารหนี้ที่รัฐบาลรับภาระ วงเงิน 8.68 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็น การกู้เงินใหม่ วงเงิน 5.54 หมื่นล้านบาท และการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 3.13 หมื่นล้านบาทเป็นการกู้เงินและการบริหารหนี้ที่รัฐบาลรับภาระทั้งหมด จึงไม่ส่งผลต่อฐานะการเงินของ รฟท. เนื่องจากรัฐบาล
ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ให้แก่ รฟท. ตามภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงที่ต้องชำระคืนเงินต้นตามกรอบที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ รวมทั้ง กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารจัดการหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้ด้วยดังนั้น หนี้ที่รัฐบาลรับภาระจึงไม่กระทบต่อฐานะการเงินของ รฟท.
โดยการกู้เงินและการบริหารหนี้ที่ รฟท. รับภาระ วงเงิน 6.78 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็นการกู้ใหม่ วงเงิน 1.79 หมื่นล้านบาท และการบริหารหนี้เดิมในประเทศ วงเงิน 4.72 หมื่นล้านบาทและต่างประเทศ วงเงิน 2.36 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีดอกเบี้ยจ่ายที่ รฟท. รับภาระ จำนวน 3.62 พันล้านบาท รฟท. ยังสามารถบริหารจัดการและรับภาระได้โดยใช้รายได้ในการชำระดอกเบี้ย และมีการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องด้วย รฟท. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินกิจการเนื่องจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้เพื่อให้ รฟท.สามารถดำเนินกิจการขนส่งสาธารณะ (public Service) แก่ประชาชนได้ ดังนั้น จึงเห็นควรให้รัฐบาลชดเชยผลขาดทุนรายปีให้แก่ รฟท. ตามกฎหมายรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินที่เป็นผลมาจากการขาดทุนดังกล่าว ซึ่งเมื่อ รฟท. สามารถปิดงบการเงินประจำปี และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) รับรองได้แล้ว ควรชดเชยผลการขาดทุนให้แก่ รฟท. เพื่อชดเชยภาระการกู้เงินเนื่องจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
นอกจากนี้กระทรวงการคลังโดย สบน. ได้ช่วยบริหารหนี้ของ รฟท. ที่มีอยู่กว่า 1.9แสนล้านบาท ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของ รพท. โดยลดการกระจุกตัวของหนี้ ขยายอายุหนี้ให้ยาวขึ้น และจำกัด (Lock) ต้นทุน ในช่วงที่ต้นทุนการกู้เงินอยู่ในระดับต่ำตามสภาวะตลาด
ที่เอื้ออำนวยปัจจุบัน ทั้งนี้ สบน. จะใช้ผลการกู้เงินและการเบิกจ่ายเปรียบเทียบกับแผนฯ ของ รฟท. ในการพิจารณาขอบรรจุวงเงินและโครงการในแผนฯ ทุกครั้ง และจะประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทุกระยะ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของ รฟท. ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
3.การเคหะแห่งชาติ (กคช.) อัตราส่วน DSCR เท่ากับ 0.46 เท่า โดยการขอบรรจุวงเงินในแผนฯประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย
แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 3.3 พันล้านบาท โดยเป็นเงินกู้เพื่อลงทุน วงเงิน 1,350 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง วงเงิน 1,940 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1500 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 2.7 พันล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่ กคช. ขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 เพื่อชำระค่าดอกเบี้ย วงเงิน 63.32 ล้านบาท และชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากแหล่งเงินอื่นรวมวงเงิน 2643 ล้านบาท
สาเหตุที่ กคช. มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ เนื่องจากมีภาระหนี้ที่ครบกำหนดในแต่ละปีที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ในวงเงินค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ปัญหา DSCR ในปีงบประมาณ 2564 โดย กคช, ร่วมกับ สบน. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สัญญาเงินกู้ที่ครบกำหนด โดยการออกพันธบัตร เพื่อช่วยยืดอายุเฉลี่ยหนี้คงค้าง ลดการกระจุกตัวของหนี้ (Bunching) (หนี้ที่ครบกำหนดในช่วง 1-3 ปี ลดลงจากเดิม 49% เหลือ 28% ของหนี้งค้าง) ดังนั้น กคช.จึงควรประสานงานร่วมกับ สบน. อย่างใกล้ชิตและต่อเนื่อง
หนี้คงค้างที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบพันธบัตร ดังนั้น กคช. ควรบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้สมดุล เช่น การบริหารสินทรัพย์เพื่อเพิ่มรายได้ การวางแผนการก่อหนี้ใหม่และการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินรับที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน และควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดในแต่ละปี โดยควรมีการกำหนดกรอบตัวขี้วัดในการบริหารความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย
รวมทั้งควรพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้สัญญาเงินกู้ก่อนครบกำหนด เพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้ และควรมีการวางแผนการบริหารทรัพย์สินก่อนโครงการแล้วเสร็จเพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนจม (Sunk Cost) สำหรับแผนการบริหารทรัพย์สินตังกล่าว ขอให้ กคช. รายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการฯ เป็นระยะ
4.องค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพ อัตราส่วน DSCR เท่ากับ 0.18 เท่า มีการการขอบรรจุวงเงินในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วยแผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 7.8 พันล้านบาท โดยเป็นเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 3.1 พันล้านบาท
โดยเป็นวงเงินที่ ขสมก. ขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยวงเงิน 2.18 พันล้านบาท และชำระดอกเบี้ยจากแหล่งเงินอื่น วงเงิน 996.94 ล้านบาท การบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 2.51 หมื่นล้านบาท
เป็นหนี้เงินกู้ที่เกิดขึ้นก่อน วันที่ 25 มิ.ย.2562 ซึ่ง ครม.มีมตีให้รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยจ่าย และสำนักงบประมาณได้จัดสรรชำระดอกเบี้ยจ่ายในปี 2565 ให้แล้ว จำนวน 5.18 พันล้านบาท และหนี้เงินกู้ที่เกิดขึ้นภายหลัง จำนวน 1.03 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ได้ชำระดอกเบี้ยจากรายไต้ตนเอง ดังนั้นจึงสามารถเสนอให้ครม.ปรับโครงสร้างหนี้ใด้
ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ ขสมก. ก่อหนี้สะสมเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น สบน. เห็นว่า ขสมก. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนได้
ดังนั้น จึงเห็นควรให้รัฐบาลชดเชยผลขาดทุนรายปีให้แก่ ขสมก. เมื่อ ขสมก. สามารถปิดงบการเงินประจำปีและ สตง. รับรองได้และถึงแม้ว่า สตง. รับรองแล้วควรให้หน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพองศ์กรต่อไปเพื่อลดภาระภาครัฐในอนาคต
กระทรวงการคลังโดย สบน. ได้ช่วยบริหารหนี้ของ ขสมก. ที่มีอยู่กว่า 1.23 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ให้สอดคล้องกับรายได้และวามสามารถในการชำระหนี้ของ ขสมก. โดยลดการกระจุกตัวของหนี้ ขยายอายุหนี้ให้ยาวขึ้น และจำกัด (Lock) ต้นทุน ในช่วงที่ต้นทุน
การกู้เงินอยู่ในระดับต่ำตามสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน ทั้งนี้ สบน. จะใช้ผลการกู้เงินและการเบิกจ่ายเปรียบเทียบกับแผนฯ ของ ขสมก. ในการพิจารณาการชอบรรจุวงเงินและโครงการในแผนฯ ทุกครั้ง และจะประสานงานร่วมกับ สคร. อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทุกระยะ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของ ขสมก.ตามแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งนำเสนอและรายงานต่อคณะกรรมการฯ ประกอบการพิจารณาการให้กู้เงินและการบริหารหนี้ของ ขสมก.
นอกจากนี้ยังขอให้ ขสมก. ดำเนินการลดสัดส่วนพนักงานต่อคันรถ เพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารตันทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเช่ารถจากเอกชนมาวิ่งดำเนินการให้คำนวณตั้งแต่ต้นสายจนถึงปลายสายเท่านั้น