พาณิชย์ลุยเจรจาการค้าออนไลน์ตลาดเอเชียใต้ ดันยอดส่งออก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้ารุกตลาดเอเชียใต้ต่อเนื่องเร่งรัดส่งออกโค้งสุดท้ายปี64 ลุยจัดเจรจาการค้าออนไลน์ต่อเนื่อง 3 โครงการ คาดสร้างมูลค่าการค้ารวมไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาทภายใน 1 ปี หวังกระตุ้นยอดส่งออกไทยในตลาดเอเชียใต้เติบโตไม่สะดุด
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ถึงแม้สถานการณ์ของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายกลับเป็นปกติ จะส่งผลกระทบต่อการจัดโครงการส่งเสริมการค้าต่าง ๆ ของกรม แต่กรมก็ยังคงมุ่งมั่นในการเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าได้มีโอกาสเจรจาการค้าระหว่างกัน ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการเร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal รวมถึงการขยายการส่งออกของไทยไปยังเมืองรองของประเทศคู่ค้าสำคัญด้วย
ในส่วนของภูมิภาคเอเชียใต้ นับเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญที่กรมให้ความสนใจมาโดยตลอด ด้วยขนาดของตลาดที่มีประชากรรวมกันเกินกว่า 1,800 ล้านคน โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้มีประชากรเกินกว่า 1,300 ล้านคน และประกอบด้วยชนชั้นกลางรายได้ปานกลางถึงสูงกว่า 400 ล้านคน โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมานั้น กรมได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) รวม 4 แห่ง ได้แก่ สคต. ณ เมืองมุมไบ กรุงนิวเดลี เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย และสคต. ณ กรุงธากา บังกลาเทศ ปรับตัวรับสถานการณ์โควิด-19 จัดกิจกรรมเจรจาการค้ารูปแบบออนไลน์ (OBM) รวม 3 โครงการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียใต้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางข้อจำกัดในการเดินทาง ประกอบด้วย
1. โครงการผลักดันการค้าในตลาดเอเชียใต้ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมและ สคต. ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ งานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ให้ความรู้เบื้องต้นถึงลักษณะเฉพาะของตลาดเอเชียใต้ จากนั้นเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการนำเสนอสินค้า (Product Pitching) ในกลุ่มสินค้าต่างๆ ได้แก่ เครื่องสำอาง สุขภาพและความงาม อาหารแปรรูป/อาหารพร้อมรับประทาน ของใช้ภายในบ้าน อาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เคมีภัณฑ์ เพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเข้าร่วมกิจกรรม OBM ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ย. 2564 โดยให้ผู้ประกอบการไทยส่งสินค้าตัวอย่างให้ผู้นำเข้าได้เห็นและสัมผัสสินค้าจริง หรือทดลองใช้สินค้าก่อนนัดหมายเจรจาการค้า เกิดคู่เจรจาการค้า รวม 96 คู่ และคาดการณ์มูลค่าสั่งซื้อภายในช่วง 1 ปี ประมาณ 3 ล้านบาท
2. โครงการ Thailand Week Online ในอินเดียตะวันตก ดำเนินการโดย สคต. มุมไบ ระหว่างวันที่ 20,22 และ 23 ก.ค. 2564 โดยผู้ประกอบการไทยจัดส่งสินค้าตัวอย่างให้ผู้นำเข้าได้เห็นและสัมผัสสินค้าจริง หรือทดลองใช้สินค้าก่อนนัดหมายเจรจาการค้าเช่นเดียวกัน เน้นผู้นำเข้าอินเดียตะวันตกทั้งเมืองหลักและเมืองรอง รวม 6 รัฐ ได้แก่ รัฐมหาราษฏระ คุชราต มัธยประเทศ กรณาฏกะ เกรละ และกัว โดยเกิดคู่เจรจาการค้า รวม 399 คู่ คาดการณ์มูลค่าสั่งซื้อภายใน ช่วง 1 ปี ประมาณ 640 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ อาหารพร้อมรับประทาน อาหารมังสวิรัติ ขนมขบเคี้ยว น้ำผลไม้ ผลไม้อบกรอบ ครีมทากันยุง สบู่และครีม น้ำมันอาบน้ำ น้ำหอมและโลชั่น รองเท้าแตะ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เป็นต้น
3. โครงการ Thai-India Trade Connect 2021 ดำเนินการโดย สคต. เจนไน ระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค. 2564 เกิดคู่เจรจาการค้า รวม 150 คู่ และคาดการณ์มูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 10.3 ล้านบาทสินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าแถบอินเดียใต้ ได้แก่ ผลไม้สดและอบแห้ง ทุเรียน ขนมขบเคี้ยว ซอสปรุงรส สบู่ โฟมล้างหน้าชนิดผง น้ำมันนวดผสมไพล ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารชีวภาพ เส้นใยด้าย พื้นไม้ เครื่องสำอาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ที่จะเริ่มต้นเดือนต.ค.นี้ กรมยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าดำเนินโครงการส่งเสริมการค้าในตลาดเอเชียใต้อย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากกิจกรรม OBM ในกลุ่มสินค้าต่าง ๆ แล้ว ยังเตรียมแผนดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ งานแสดงสินค้า Top Thai Brands ณ เมืองปูเน่ อินเดีย และกรุงธากา บังกลาเทศ กิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ รายใหม่ในอินเดีย เช่น Namdhari เป็นต้น
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมอื่น ๆ ของกรม สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ www.ditp.go.th เฟสบุ๊ก: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1169
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th E-mail: [email protected]