ลุยชง ครม.ตั้งกองทุนใหม่หนุนท่องเที่ยว เก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” 500 บาทต่อคน

ลุยชง ครม.ตั้งกองทุนใหม่หนุนท่องเที่ยว เก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” 500 บาทต่อคน

“ศบศ.” ไฟเขียวจัดตั้งกองทุนใหม่หนุนภาคท่องเที่ยวไทย “พิพัฒน์” เผยที่มารายได้มาจากการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500 บาทต่อคน ลุยชง “ครม.” เคาะต่อ หวังเป็นเงินกองกลางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากวิกฤติใหม่

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อใช้พลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อการเติบโตที่มีความยั่งยืน

เบื้องต้นรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จะมีรายได้มาจากการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งก่อนหน้านี้จะจัดเก็บประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือประมาณ 300 บาท เริ่มต้นเก็บค่าธรรมเนียมนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป แต่สิ่งที่ปรับเพิ่มมาคือ การบวกเพิ่มอีก 200 บาทต่อคน รวมสุทธิเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500 บาทต่อคน เริ่มจัดเก็บตามกำหนดเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565

 

นายพิพัฒน์ กล่าวยืนยันว่า จะนำรายได้ทั้งหมดจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาเพื่อตั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถนำมาเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หากได้รับความเดือดร้อนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือเกิดวิกฤติใหม่ขึ้นมาเหมือนการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวสูงมาก ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนต่อไป ยังต้องเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

อ่านข่าว : แพร่ประกาศ มท.ไฟเขียว“นักท่องเที่ยว”ต่างชาติอยู่ไทยได้นานสุด 9 เดือน

“แนวคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมลักษณะนี้ไม่ได้มีเกิดขึ้นแค่กับประเทศไทยเท่านั้น เพราะในต่างประเทศก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะนี้เช่นกัน แต่อาจไม่เท่ากันในจำนวนเงินเท่านั้น ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นเงินกองกลางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนแล้วว่าเมื่อเกิดวิกฤติที่ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้นมา การช่วยเหลือเยียวยาในด้านแหล่งเงินทุน ค่อนข้างเข้าถึงได้ยากและไม่ทันการเท่าที่ควร โดยเชื่อว่าการกำหนดจำนวนค่าธรรมเนียมไว้ที่ 500 บาท ถือเป็นรายได้อีกส่วนจากการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างสูง เพราะหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 1 ล้านคน ก็สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ 500 ล้านบาทแล้ว” รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าว