เจาะ..ความยิ่งใหญ่ “ไทยเบฟ” ในมือเจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี”
18 ปี ไทยเบฟ สร้างการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ จาก "เจ้าสัวเจริญ" ส่งผ่านถึงทายาทเจ้าสัวน้อย "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" การภารกิจเคลื่อนอาหารและเครื่องดื่มเติบโตสู่ Passion 2025 พร้อมปลดปล่อยศักยภาพสร้างอาณาจักรให้ผงาดในภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง
เป็นประจำทุกที่เจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” แม่ทัพใหญ่แห่ง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) จะออกมาแถลงแผนธุรกิจ เล่าทิศทางอาณาจักรอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตก้าวหน้าอย่างไรในสมรภูมิการค้าทั้งไทยและต่างประเทศ
ปี 2564 “ฐาปน” ประกาศอย่างถ่อมตัวสอดคล้องกับบุคลิกของตนเอง แต่ในการดำเนินธุริกจยังคงเป้าหมายการเติบโตที่ “ยิ่งใหญ่” ไว้เสมอ ซึ่งปีนี้เห็นความต่อเนื่องของการเดินหมากรบธุรกิจ โดยเฉพาะการ “ปลดปล่อยศักยภาพไทยเบฟ” ที่ซุ่มซ่อนไว้มากมาย ให้ผงาดในตลาดเครื่องดื่มของภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเขย่ายักษ์ใหญ่ใน “เอเชีย” เช่นเดิม
ก่อนจะยิ่งใหญ่ในอนาคต มาดูเส้นทางการเติบโตของไทยเบฟ แต่ละห้วงเวลาก่อน
++ย้อนรอยความยิ่งใหญ่
หากย้อนดูการก่อกำเนิดบริษัทถือว่าก่อตั้งไม่นาน ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันอายุอานามเพียง 18 ปี แต่ความยิ่งใหญ่หากวัดขุมกำลังรายได้ที่มีมูลค่า “แสนล้านบาท” ต้องถือว่าการเติบโตเร็วมาก และองค์กรธุรกิจไทยที่ทำรายได้ระดับนี้ มีไม่มากนัก ยกตัวอย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี(รายได้ทะลุล้านล้านบาท) เครือสหพัฒน์รายได้เกือบ 3 แสนล้านบาท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กว่า 1.3 แสนล้านบาท บุญรอดบริวเวอรี่เกือบ 2 แสนล้านบาท ปูนซีเมนต์ไทยกว่า 4 แสนล้านบาท เอไอเอสกว่า 1.7 แสนล้านบาท บรรษัทพลังงานแห่งชาติอย่ง ปตท.กว่า 1.6 ล้านล้านบาท เป็นต้น
อายุไทยเบฟอาจจะละอ่อน แต่แบรนด์สินค้าในเครือเช่น “เบียร์ช้าง” อาจมีอายุนานกว่า คือ 27 ปี แต่ทั้งองค์กร แบรนด์เรียกว่ายังเป็นวัยรุ่น แต่กลับมีศักยภาพทัดเทียมองค์กรเก่าแก่อื่นๆอย่างมาก และบริษัทยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลังช้างสารในการต่อกรกับคู่แข่งบนสังเวียนการค้าอีกมากมาย
เป็นที่รู้กันว่า “เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” คือผู้ปลุกปั้นธุรกิจเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา แม้เรื่องราวส่วนใหญ่จะจารึก ราชันย์น้ำเมา “เจริญ” ไว้เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม
เส้นทางธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ” เป็นนักธุรกิจไทยสายเลือดมังกร ที่เริ่มต้นค้าขายหอยทอด ขยับสู่การเป็นซัพพลายเออร์ให้โรงงานสุราบางยี่ขัน จนมีโอกาสได้รับช่วงต่อการเป็นเจ้าของธุรกิจสุราสี “แสงโสม” ด้วยการเข้าซื้อกิจการต่อจากเจ้าของเดิม
“เหล้า” เป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับ “เจ้าสัวเจริญ” เพราะนอกจากแสงโสม ยังมีสุราขาว ที่ได้สัมปทานจากรัฐที่เรียกว่า “ผูกขาด” มาเป็นเวลานาน เสริมความร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหากพิจารณา “รายได้” และ “กำไร” ของไทยเบฟ เหล้าขาวเป็นพระเอกที่ทำเงินมหาศาล อย่างรายได้ปี 2563 คิดเป็น 46% ของพอร์ตโฟลิโอ สัดส่วนลดลงมามาก หลังจากไทยเบฟ มีพอร์ตเบียร์ใหญ่จาก ไซง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (ซาเบโก้) เข้ามาเสริมได้ไม่นาน แต่ “เหล้า” ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งขนานกับสินค้าอื่นๆ
ด้าน “กำไร” เหล้ายังทำเงินมากสุดสัดส่วนกว่า 80% และภาพรวมธุรกิจน้ำเมาจึงเป็นพอร์ตใหญ่ที่สำคัญของบริษัทที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาณาจักร
++ซื้อกิจการ จิ๊กซอว์โตทางลัด
การซื้อกิจการเหล้าในอดีต เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจ แต่ยังเป็นจิ๊กซอว์ที่ “เจ้าสัวเจริญ” ใช้เป็นมรรควิธีสร้างการเติบโตทางลัดอย่างต่อเนื่อง ผ่านบริษัทในเครือจาก 5 กลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มประกันและการเงิน, อุตสาหกรรมการค้า, อาหารเครื่องดื่ม, อสังหาริมทรัพย์ และสายธุรกิจเกษตรและธุรกิจการเกษตร
เฉพาะไทยเบฟ มีชื่อเข้าซื้อกิจการจำนวนมากที่เชื่อมโยง และต่อยอดอาณาจักรอาหารและเครื่องดื่ม แต่ละดีลเรียกว่าไม่ธรรมดา เพราะมีมูลค่านับหมื่นไปจนถึง “แสนล้านบาท”
หากบิ๊กดีลที่เขย่าวงการ ต้องยกให้ปี 2555 กับการเข้าฮุบหุ้นของ “เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ” หรือเอฟแอนด์เอ็น ในประเทศสิงคโปร์ ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มของภูมิภาคอาเซียน ที่ขณะนั้นมีพอร์ตน้ำเมาอย่าง “ไทเกอร์เบียร์” ที่เจ้าสัวหมายมั่นปั้นมือจะได้มาครอง
ทว่าปิดดีลปี 2556 ด้วยการถือครองหุ้นกว่า 28% กับดีลประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียนมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท อีกดีลที่ใหญ่ไม่น้อยหน้ากัน และสมหวัง “เจ้าสัว” เสียที นั่นคือการได้ถือครองหุ้น 53.59% ในไซง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (SABECO) กับการควักเงินถึง 1.56 แสนล้านบาท
การได้ SABECO มาอยู่ในอาณาจักร เป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยเบฟกลายเป็น “เบอร์ 1 เบียร์ อาเซียน” ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด 33% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากตอนซื้อกิจการใหม่ๆ ยังเป็นตัวเลขกว่า 20%
การโตทางลัดไม่ได้มีเท่านี้ เพราะตลอดเส้นทางความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไทยเบฟ ล้วนใช้ “เงิน” ต่อเงินให้เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปี 2551 ซื้อหุ้น “โออิชิ กรุ๊ป” เบ็ดเสร็จ ปี 2552 ซื้อหุ้นบริษัทสุราขาวในจีนอย่าง “ยูนนาน อวี้หลินฉวน ลิเคอร์” ปี 2554 ซื้อกิจการเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่าง “เสริมสุข”
ปี 2560 ซื้อกิจการสุราสีในเมียนมา จาก แกรนด์รอยยัล กรุ๊ป และยังซื้อกิจการแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซี 252 สาขา ปี 2562 ซื้อสิทธิ์ในการบริหารแฟรนไชส์ “ร้านสตาร์บัคส์” ทั้งหมด 720 สาขาในไทย เหล่านี้เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของการใช้เงินขยับขยายธุรกิจให้โตเร็ว แซงหน้า “คู่แข่ง” ล่าสุด ยังซื้อธุรกิจ Rice Cake ของเอฟแอนด์เอ็นเพิ่มด้วย เรียกว่าไม่หยุดนิ่งจริงๆ แต่บิ๊กดีล จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ขณะที่ดีลย่อยเป็นจิ๊กซอว์สำคัญทำให้ธุรกิจแกร่งยากต่อกรยิ่งขึ้น
++ก้าวถัดไปไทยเบฟจะเติบโตแข็งแกร่งกว่าที่เคย
จากเจ้าสัวเจริญเคลื่อนอาณาจักร มาสู่ทายาท "เจ้าสัวน้อยฐาปน" ไทยเบฟ ยังคงสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความขยันทำงานของเจ้าสัวเจริญมีมากเหลือ จน ฐาปน ออกตัวว่ายังขยันไม่เท่าบิดาเลย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของไทยเบฟ ถือว่าเป็นไปอย่าง “ก้าวกระโดด” จากหลัก 1 แสนล้านบาท ขยับเป็น 2 แสนล้านบาท โดยปี 2561-2562 ยอดขายอยู่ที่ 2.67 แสนล้านบาท แต่ปี 2562-2563 ยอดขายอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาท การลดลงเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่เผชิญวิบากกรรมเดียวกัน มีเพียงบางหมวดธุรกิจที่เติบโต
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อไทยเบฟฯ เผชิญความท้าทายไม่ต่างจากธุรกิจเล็ก-ใหญ่ รายอื่น ที่ต้องหาทางประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติโรคโควิด-19 ที่ระบาดลามโลก กระทบการค้าขาย ช่องทางจำหน่ายเหล้า-เบียร์ อย่างผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ(On Premise)ที่โดนปิดยาวข้ามปี ทำให้ต้องปรับทัพเพื่อขายผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไป หรือช่องทางอื่นที่เป็น Off Premise เสิร์ฟผู้บริโภคกินดื่มที่บ้านแทน
ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหมวดที่ได้รับผลกระทบสาหัส ต้องแบก “ขาดทุน” อีกระลอก หลังจากที่ผ่านมาธุรกิจเริ่มเข้าสู่แดนบวกได้บ้าง ทว่า โรคระบาดลและมาตรการรัฐ สั่งล็อกดาวน์การรับประทานอาหารในร้าน(Dine in) แบรนด์ที่มีร้านอาหารในห้างค้าปลีกต้องกระอัก เพราะเป็นช่องทางหลักในการทำเงิน แต่ธุรกิจต้องรอด จึงปรับตัวจ้าละหวั่น หาพื้นที่นอกห้างเปิด “ครัวกลาง” หรือคลาวด์ คิทเช่น ไว้บริการลูกค้า
ตัวแปรดังกล่าว ยังส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคตที่จะต้องพึ่งพาห้างน้อยลง และต้องทำตัวให้เบากว่าเดิม เพื่อจะเติบโตแกร่งในบริบทการค้า สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภค การแข่งขันทที่เปลี่ยนไป
ปี 2564 เป็นก้าวที่ 2 ของ Passion 2025 ที่ “ฐาปน” วางยุทธศาสตร์เคลื่อนธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ โดยมี 5 กุญแจสำคัญในการผลักดันสู่เป้าหมาย ประกอบด้วย 1.BUILD การสรรสร้างความสามารถ 2.STRENGTHEN การเสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง 3.UNLOCK การปลดปล่อยศักยภาพของไทยเบฟ 4.การตัดสินใจในเวลาที่ถูกต้อง จังหวะของการลงทุน 5.การร่วมมือกันทำงานเพื่อคว้าโอกาสใหม่ที่มมีมหาศาล
18 เดือนที่ขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไทยเบฟ สร้างผลประกอบการได้อย่างน่าพอใจ โดยยอดขาย 9 เดือน (ปีงบประมาณ ต.ค.63- ก.ย.64) มูลค่า 192,120 ล้านบาท โต 1.1% มีกำไรก่อนหักภาษี(EBITDA) 36,638 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5%
“ไทยเบฟ ประคับประคองธุรกิจ สร้างผลประกอบการอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติ การเดินไปในอนาคตข้งหน้า เราจะเสริมความแข็งแกร่งกว่าเดิมหรือ Stronger than ever”
การเติบโตแกร่งกว่าเดิมมาจากอะไรบ้าง “ฐาปน” เล่าว่า ตลอดเวลาที่อยู่ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ผู้บริโภคทั้งโลกตระหนักดีกว่าโควิดไม่หายไปไหน และทุกคนต้องอยู่ร่วมกับไวรัสต่อไป จึงหาทางทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ คุ้นชิน รู้วิธีอยู่อย่างปลอดภัยแล้ว
ธุรกิจของไทยเบฟ มีการปรับตัวเช่นกัน บริษัทผ่านการทรานส์ฟอร์มองค์กรตั้งแต่ปี 2563 ก้าวสู่ Passion 2025 เริ่มจากคนในองค์กรที่ปรับตัวเรียนรู้การใช้ดิจิทัลอย่างคุ้นชิน 98% เรียกว่าเก่งขึ้นไม่ต่างจากผู้บริโภคที่ใช้ดิจิทัลทำงานที่บ้าน สั่งอาหารออนไลน์ การทำงานของบุคลากรในไทยเบฟยังผนึกกำลังกันแกร่งกว่าเดิมเพื่อเดินตาม Passion 2025
++5 กุญแจ เคลื่อน Passion 2025
5 กุญแจ สำคัญที่ “ฐาปน” จะนำทัพไทยเบฟผงาดในโลกธุรกิจ วันนี้ไม่จำกัดกรอบการเติบโตอยู่แค่หมวด “อาหารและเครื่องดื่ม” เท่านั้น แต่จะไปให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในหมวดดังกล่าว และก้าวสู่หมวดธุรกิจที่รับโลกการค้าอนาคตด้วย
ฐาปน ขยายความทั้ง 5 กลยุทธ์ดังนี้ 1.BUILD การสรรสร้างความสามารถ ทั้งความสามารถและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่ สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดโลกที่ให้ความใส่ใจในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากมีการคาดแนวโน้มปี 2563-2567 ตลาดเครื่องดื่มจะมีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะหมวดเพื่อสุขภาพคาดเติบโตเฉลี่ย 9.6% น้ำดื่มเติบโต 2.2% เครื่องดื่มอัดลมเติบโต 1.6% เป็นต้น
นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายดิจิทัล รองรับการส่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านบริการ “เดลิเวอรี่” ที่คาดการณ์ 5 ปีข้างหน้า เดลิเวอรี่จะเติบโตเฉลี่ย 29% รวมถึงการมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ไทยเบฟจะคิกออฟการลุยตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ควบคู่กันไป ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และสิงคโปร์ หรือ Domain-led, Extened to Makets. เพื่อเก็บเกี่ยวตลาดเป้าหมายที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน
การขยายตลาดฮาลาลฟู้ด เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคชาวมุสลิมที่มีกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันไทยเบฟ มี Yoke Food ในอินโดนีเซีย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และยังมีการจัดตั้งสำนักงานที่ตะวันออกกลาง และอาฟริกาเหนือ เพื่อลุยตลาดเต็มสูบ เป็นต้น
2.STRENGTHEN การเสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง มีการจัดทีมงานด้านความแม่นยำและใช้เครื่องมือดิจิทัล จะผสานข้อมูล(Data) ทั้งภายในและภายนอก เพื่อวิเคราะห์ตลาดให้แม่นยำยิ่งขึ้น วิเคราะห์พอร์ตโฟลิโอสินค้าที่มี ต้องซีเนอร์ยีสินค้าให้แกร่งกว่าเดิม ซีนเนอร์ยีโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า รวมถึงผสานงานด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
3.การตัดสินใจและลงทุนในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องของการสร้างแบรนด์ การออกสินค้าใหม่ การผลิตสินค้า ตลอดจนการบริหารจัดการซัพพลายเชน การลงทุนยังเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี ซึ่งได้มีการกำหนด “กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี” วางแผนการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
4.การร่วมมือกันทำงานเพื่อคว้าโอกาสใหม่ที่มีมหาศาล กลยุทธ์นี้ “ฐาปน” ย้ำว่า หากบุคลากรในองค์กรทำงานร่วมกันไม่ได้ โอกาสมหาศาลที่มีในตลาดย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น
++BeerCo ต้นแบบปลดปล่อยศักยภาพครั้งสำคัญ
กุญแจดอกสำคัญที่จะเห็นไทยเบฟทรานส์ฟอร์มไปอีกขั้น คือการปลดปล่อยศักยภาพที่มีของบริษัท ซึ่ง “ฐาปน” วางหมากรบในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจ สร้างคุณค่า ผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้มากมาย แต่ BeerCo Group คือจิ๊กซอว์แรกที่ประเดิม
ในปีที่ผ่านมาไทยเบฟ มีการแยกธุรกิจเบียร์ออกมา และเขย่าโครงสร้างใหม่ นำสินทรัพย์ ทรัพย์สินที่มีมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และทำการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชน นักบลงทุนหรือ IPO ซึ่งขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนเพราะพิษโควิด-19 เดิมบริษัทตั้งใจจะไอพีโอเดือนพฤษภาคม 2563 ปลายปี 2564 พยายามศึกษาตลาดอีกครั้ง พอจะไอพีโอเดือนมีนาคม 2564 ไทยเจอโควิดระบาดระลอก 4 ทำให้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีผลต่อนักลงทุน หากขายหุ้นแล้วตลาดหลักทรัพย์ปิด นักลงทุนย่อมตกใจแน่นอน
“เราต้องบริหารความคาดหวังของนักลงทุน ซึ่งการกลับเข้าไปไอพีโออีกครั้ง ขึ้นอยู่กับเวลา ความพร้อมของนักลงทุน เพราะเราต้องดูแลมูลค่าของผู้ถือหุ้น หากโดดออกไปผิดจังหวะ ไม่ควรทำ ไม่เช่นนั้นถือเป็นการทำหน้าที่ไม่รัดกุม ไม่ดีพอ”
สำหรับการปลดล็อก BeerCo ฐาปน ขยายความเป็นการสร้างข้อมูลกลุ่มสินค้าให้กับนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนจะให้ “คุณค่า” มูลค่าธุรกิจ ตามโครงสร้างของสินค้า ประกอบกับไททยเบฟมีธุรกิจ “เบียร์” ย่อมต้องขับเคี่ยวกับธุรกิจเบียร์ด้วยกัน ถือเป็นไปตามหมวดหมู่สินค้า(Category)นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟกระโดดเข้าไปลงทุนซื้อกิจการทั้งโออิชิ เสริมสุข เอฟแอนด์เอ็น ซาเบโก้ แกรนด์รอยัล กรุ๊ป จึงถึงเวลาที่จะสำรวจสินทรัพย์ที่มีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มปลดปล่อยศักยภาพสู่ความยิ่งใหญ่ เขย่าคู่แข่ง และการจัดเรียบทรัพย์สินที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจเบียร์ทั้งหมด เป็นการเบ่งพอร์ตโฟลิโอให้มีมูลค่าเพิ่มตอบแทนผู้ถือหุ้น
++พร้อมลุยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV
การปลดปล่อยศักยภาพของไทยเบฟ จะไปไกลแค่ไหน “ฐาปน” หยิบธุรกิจในมือมากมายมาชำแหละ เช่น โลจิสติกส์ ดิสทริบิวชั่น ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการจัดระเบียบข้อมูลเอื้อให้นักลงทุนเห็นคุณค่าเต็มที่นัก ในไทยอาจเห็นภาพ “ไทยดริ้งค์” แต่ไทยเบฟเป็นยักษ์ใหญ่อาหารและเครื่องดื่มอาเซียนมีกิจการอย่าง เอฟแอนด์เอ็นในสิงคโปร์ มี เอฟแอนด์เอ็น บอร์ฮาด(F&N Malaysia Berhad)รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งอาคารสำนักงาน โรงงาน คลังสินค้าต่างๆ สามารถจัดกลุ่มข้อมูลเพื่อป้อนนักลงทุนได้ เป็นต้น
“Unlock Value เรามองหลายเรื่องที่เกี่ยวโยงธุรกิจ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ คลังสินค้า โลจิสติกส์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ล้วนมูลค่าตลาดหรือ Market Value แต่เราไม่เคยรวม เช่น คลังสินค้ามีกี่ตารางเมตร ใช้รถบรรทุกสินค้าทั้งระบบทั้งของเราและคู่ค้าพันธมิตรเท่าไหร่ การ Unlock สิ่งเหล่านี้จะสร้างมูลค่ามหาศาล”
การปลดปล่อยศักยภาพที่มี ฐาปน เชื่อว่าทุกองค์กรกำลังทำเหมือนกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประโยชน์สูงสุดต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders)ทุกภาคส่วน
“หากเราคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม รายได้ก็จะเป็นแบบเดิมๆ”
การจัดบ้านให้เรียบร้อยต้องใช้เวลา ซึ่งอนาคตคงเห็นไทยเบฟ ล้ำไปอีกขั้น แต่ที่ล้ำเร็วและเห็นแน่นอนคือ ปี 2565 ฐาปน จะพาไทยเบฟ ขยับสู่วงการ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”หรือ รถยนต์ EV การพลิกโฉมดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากความตกลงปารีสหรือ Paris Agreement ซึ่งทุกภาคส่วนความพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยเบฟจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนรถบรรทุกสินค้าที่ใช้พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี) ไปสู่พลังงานไฟฟ้า
ปี 2563 จะเห็นการลงทุน และผลลัพธ์จะเกิดขึ้นในปี 2565 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กับการลงทุน คือ “นโยบายภาครัฐ” จะออกมารูปแบบใด รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการผลิตรถอีวีออกมาหรือยัง หากต้องนำเข้า ภาษีนำเข้าจะมากน้อยแค่ไหน มีผลต่อ “ต้นทุน” บริษัทหรือไม่ ปีหน้าหากไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APEC เชื่อว่าคงเห็นความคืบหน้านโยบายพลังงานที่เปลี่ยนไป
“เรากำลังศึกษารูปแบบของการใช้รถอีวี เพราะการขนส่งสินค้าทั่วไปไปกลับ รถยนต์ไฟฟ้าระยะวิ่งไม่เท่ากัน ต้องหยุดชาร์จแบต รูปแบบการลงทุนจึงแตกต่าง เราต้องศึกษาทั้งหมด"
อย่างไรก็ตาม ฐาปน เป็นแม่ทัพใหญ่ และทุกการเคลื่อนธุรกิจ มี "ขุนพล" ข้างกายที่มากฝีมือ เต็มไปด้วยประสบการณ์เพียบ ไม่ว่าจะเป็น ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินและบัญชี ธุรกิจต่างประเทศ, เลสเตอร์ ตัน ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย), นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย), โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาความเป็นเลิศ และ เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มทรัพยากรบุคคล เป็นต้น