กบง. คาดใช้ 3 พันล้านตรึงราคาดีเซล พร้อมหั่นราคา B7 ลง 1 บาท มีผลพรุ่งนี้

กบง. คาดใช้ 3 พันล้านตรึงราคาดีเซล พร้อมหั่นราคา B7 ลง 1 บาท มีผลพรุ่งนี้

"กบง." ใช้เงินกองทุนฯ 3,000 ล้านบาท คุมราคาดีเซลถึงสิ้นเดือน ต.ค. ก่อนประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ลดเก็บเงินดีเซล บี7 ลง 1 บาท ปรับสูตรดีเซลเหลือ B6 ลิตรละ 28.29 บาท มีผลพรุ่งนี้ (5 ต.ค.) เบื้องต้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากทั้งน้ำมันและแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงมีมติดูแลราคาน้ำมันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งน้ำมันพื้นฐานบี10 และน้ำมันบี7 ที่ปัจจุบันมีรถยนต์ในประเทศไทยใช้อยู่ประมาณ 10 ล้านคัน 

ทั้งนี้ กบง.จะดำเนินการในระยะเบื้องตัน 3 ส่วนคือ 1.การลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และบี7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ1.40 บาท มีผลวันที่ 5 ตุลาคม – 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งปัจจุบันถูกกว่า 1.80 บาทต่อลิตรอยู่แล้ว 2.ลดการจัดเก็บเงิน บี7 เข้ากองทุนจาก 1.00 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 11 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2564 และ 3.ลดการผสมไบโอดีเซล จากบี10 และบี7 เหลือบี6 มีผลวันที่ 11 ตุลาคม – 31 ตุลาคม 2564

" ตอนนี้ใช้มาตรการระยะสั้นไปก่อนโดยเบื้องต้นจะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ 3,000 ล้านบาท จากที่มีเงินอยู่ขณะนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท ยังไม่ต้องถึงกับขอกระทรวงการคลังกู้เงิน แต่จะคอยดูสถานการณ์ต่อไป ซึ่งหากอนาคตอาจต้องกู้เพิ่มก็สามารถกู้ได้ ส่วนเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตไม่น่าเป็นไปได้เอาไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่อยากให้วิตกกังวลอะไร ราคาน้ำมันที่ผันผวนอยู่ปัจจุบันก็เหมือนกับปี 2562 รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ มองว่าต่อไปฟื้นตัวแน่นอน ช่วงไตรมาส4 GDP จะดีขึ้นแน่นอน กระทรวงมีแผนรองรับไว้อยู่แล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะ ไม่ให้น้ำมันดีเซลพื้นฐานเกิน 30 บาทต่อลิตรแน่นอน"

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือแอลพีจีนั้น ล่าสุดได้แยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด เนื่องจากติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทจากการอุดหนุนราคา จนใกล้เพดานที่กำหนดคือ 1.8 หมื่นล้านบาท และจะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ อนุมัติวงเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทมาช่วยเหลือเป็นเวลา 4เดือน(ตุลาคม 2564 - มกราคม 2565)

เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) โดยจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเท่านั้นไม่รวมภาคขนส่ง