จับตาประมูลคลื่นวิทยุปี 65 ทุนเล็กไปต่อ หรือพอแค่นี้!
นับถอยหลังอีกไม่กี่เดือนประเทศไทยต้องมีการประมูลคลื่นความถี่วิทยุเป็นครั้งแรก ช่วงเม.ย. 2565 ทำให้สถานีวิทยุทั่วไทยกว่า 8,000 สถานี เกิดความกังวลใจ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น “ทุนเล็ก” สายป่านสั้น กลัวสู้ “นายทุนใหญ่” ที่จะมาประมูลแข่งไม่ไหว
ที่ผ่านมา การดำเนินธุรกิจวิทยุ เป็นเพียงการ "ทดลองประกอบกิจการ" เท่านั้น ซึ่งยังไม่มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการแต่อย่างใด โดยผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่าย Processing Fee ขณะที่การประมูลที่จะเกิดขึ้นปี 2565 หลังจากประมูลแล้ว จะต้อง "ขออนุญาตประกอบกิจการด้วย" ซึ่งกฎหมายดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการค่อนข้างอึดอัด
ทว่า กฏหมายต้องบังคับใช้ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ต้องปฏิบัติตาม ทำให้รัฐและเอกชนจัดเสวนาหัวข้อ “วิทยุกระจายเสียง จะไปต่อหรือพอแค่นี้”
เสียงจากผู้ประกอบการสถานีวิทยุท้องถิ่น เยาวนา อาทิตย์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดนตรีสีสัน แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันของทุนเล็กที่จะประมูลสู้ “ทุนใหญ่” ไม่ไหว เพราะเบื้องต้นหากยึดธุรกิจเป็นตัวตั้ง “ราคาประมูล” อาจพุ่งสูงขึ้น หรือต่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กประมูลได้ แต่ทิศทางเม็ดเงินโฆษณากลับหดตัว เพราะมีสื่อใหม่ที่ทรงพลังแบ่งเค้กโฆษณามากขึ้น
อ่านข่าว : กสทช.กางโรดแมพ เตรียมเปิดประมูลคลื่นวิทยุ ต้นปี 65
นอกจากนี้ ตลอด 30 ปี บนเส้นทางการทำสถานีวิทยุอัตราค่าโฆษณาทางวิทยุชุมชนยังเป็น “ราคาเดิม” การอยู่รอดจึงยากลำบากไม่น้อย
ธราภุช จารุวัฒนะ-อนุพันธ์ เตจ๊ะวันโน-เยาวนา อาทิตย์ธรรม
อีกปัจจัยที่กังวลคือ “กำลังส่ง” ซึ่งจะมีการปรับลดลง ยิ่งเพิ่มความลำบากในการอยู่รอดทางธุรกิจด้วย เนื่องจากการประมูลครั้งใหม่ และให้ใบอนุญาตประกอบกิจการจะเป็น "โลว์ พาวเวอร์" ซึ่งกสทช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นกำลังส่งเท่าไหร่นั่นเอง แต่ในมิติกำลังส่ง ผู้ประกอบการวิเคราะห์ว่าจะทำให้ผู้ประกอบการวิทยุถึงขั้น "สูญพันธุ์" เลยทีเดียว
“ผู้ประกอบการสถานีวิทยุท้องถิ่น มีการปรับตัวมาโดยตลอด แต่หากราคาประมูลเริ่มต้นจากราคาท้องถิ่น อาจทำให้เราเดินต่อได้”
ด้าน ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย ยักษ์ใหญ่เอเยนซีที่กุมเงินลูกค้า ฉายภาพธุรกิจวิทยุในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาหดตัวลงต่อเนื่อง จากสัดส่วน 50%ปัจจุบันเหลือต่ำกว่า 10% โดยปี 2564 คาดการณ์หดตัว 8-11% เมื่อเทียบกับสื่ออื่น เช่น อินเตอร์เน็ต ทีวี สื่อในห้างที่ยังเติบโต ขณะที่ 8 เดือนแรก วิทยุมีเม็ดเงินโฆษณา 2,217 ล้านบาท หดตัว 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
นอกจากนี้ พฤติกรรมคนฟังวิทยุเปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ออนไลน์มากขึ้นและเติบโต 10-20% คอนเทนท์ที่ฟังส่วนใหญ่ 67.5% เป็นเพลง 51% ฟังสถานีวิทยุออนไลน์ และ 44.2% ฟังพอดแคสต์ ขณะที่การฟังเพลงผ่านออนไลน์หรือสตรีมมิ่ง วิทยุออนไลน์เฉลี่ยอยู่ 1.34 ชั่วโมง ลดลงเล็กน้อยจากโรคโควิดระบาด โดยปีก่อนการใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.36 ชั่วโมง
หากเจาะแพลตฟอร์มวิทยุออนไลน์ 3 ยักษ์ใหญ่ที่ครองใจผู้ฟังในตลาด ยกให้จูกซ์(JOOX) สัดส่วน 55% สปอทิฟาย(Spotify) 25% และบีอีซี เทโร 8% ส่วนคอนเทนท์ที่ฟัง “เพลงไทย” กินสัดส่วน 80% ทั้งนี้ แบรนด์สินค้าจะเทเงินโฆษณาบนวิทยุ เพื่อสร้างความถี่ นำเสนอโปรโมชั่นให้กับลูกค้า ตัวอย่าง การลงโฆษณาสินค้ารถยนต์ในช่วงมอเตอร์โชว์ และมอเตอร์เอ็กซ์โป โดยที่แบรนด์ไม่โฆษณาอื่น วิทยุช่วยเพิ่มยอดขายได้ 9.7% แสดงให้เห็นโอกาสธุรกิจ
“สปอนเซอร์ยังมองว่าวิทยุไปต่อได้ แต่การจะแข่งขันในตลาดได้เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มระดับโลกอื่นๆ วิทยุอาจต้องใช้เวลาปรับตัว 3-5 ปี เหมือนตอนที่ประมูลทีวีดิจิทัล ขณะที่แนวโน้มสื่อเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงต้องการหาแพลตฟอร์มอื่น ผู้ผลิตคอนเทนท์มาช่วยเสริมแกร่ง”
อนุพันธ์ เตจ๊ะวันโน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอเชีย บริษัท พานีด้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า วิทยุจะไปต่อได้ต้องมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ ทรานส์ฟอร์มสู่ “มัลติแพลตฟอร์ม” มากขึ้น ต้องมีทั้งออนไลน์ แอ๊พพลิเคชั่น ฯ มีทั้ง AM, FM,สถานีวิทยุดิจิทัล, พอดแคสต์ ฯ เพื่อเข้าถึงผู้ฟัง ส่วนการหารายได้จะพึ่งพาเม็ดเงินโฆษณาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมุ่งจัดอีเวนท์เสริมทัพด้วย
ตัวอย่างการปรับตัวของสถานีวิทยุในโลก เพื่อสร้างความอยู่รอดมีมากมาย เช่น Absolute ของอังกฤษ tripple ของออสเตรเลีย มีการสร้างแตกไลน์เนื้อหาให้หลากหลาย(Digital Stack)ตอบสนองผู้ฟังแต่ละกลุ่มมากขึ้น วิทยุต้องเข้าถึงทุกอุปกรณ์ เพื่อเสิร์ฟผู้ฟังทุกที่ ทุกเวลา มุ่งลดรอยต่อของการฟังวิทยุในรูปแบบต่างๆ มีการสร้างอีโคซิสเทมให้ครบวงจร เพื่อส่งคอนเทนท์ให้ตรงใจผู้ฟัง เป็นต้น