"วัลลภา ไตรโสรัส" AWC ปั้นโครงการระดับโลก ร่วมสร้างจุดแข็งประเทศไทย!
“วัลลภา ไตรโสรัส” ราชินีอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทย ผู้กุมบังเหียน “แอสเสทเวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” หนึ่งในเสาหลักของกิจการในตระกูลเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี วันนี้เร่งเตรียมความพร้อมสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งด้วยการเดินหน้าลงทุนบิ๊กโปรเจคต่างๆ ต่อเนื่อง
ตามห้วงจังหวะที่เหมาะสม รอการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิด-19 โดยแผนงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 เตรียมลงทุนอีก 1 แสนล้านบาท ดันมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มเป็นกว่า 2 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 แอสเสทเวิรด์ฯมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 134,284 ล้านบาท
นิยามของคำว่า “สร้างอนาคตที่ดีกว่า” เป็นเช่นไร “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC บุตรคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขยายความไว้ชัดว่าคือการสร้างโครงการระดับโลก...ร่วมสร้าง “จุดแข็ง” ให้กับประเทศไทย!
ทั้งยังถูกบรรจุให้เป็นสโลแกนประจำองค์กร “Building A Better Future” ตอกย้ำวิสัยทัศน์มุ่งพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพเพื่อสร้าง “คุณค่าระยะยาว” ให้แก่ทุกภาคส่วน ทั้งตัวองค์กร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชุมชน และประเทศอย่างยั่งยืน
วัลลภา ฉายภาพถึงอนาคตที่แอสเสทเวิรด์ฯอยากเห็นและเตรียมขับเคลื่อนต่อเนื่องใน “ยุคนิวนอร์มอล” โดยเฉพาะโปรเจคมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในมือซึ่งล้วนเป็นที่จับตามองทั้งสิ้น
เริ่มจากโครงการ “A SIAM ASIATIQUE DISTRICT BKK” ซึ่งเตรียมขยายการลงทุนเฟสใหม่ของเอเชียทีคริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้น “ตึกสูงระฟ้า” ตรงบริเวณลานจอดรถปัจจุบัน ปั้นเป็นแลนด์มาร์กระดับไอคอนแห่งใหม่ของประเทศไทย ได้พันธมิตรบริษัท Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมสำคัญหลายแห่ง รวมถึงตึกสูงระฟ้าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น ตึกสูงที่สุดปัจจุบันในโลกอย่าง “เบิร์จ คาลิฟา” ในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วางกำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2572
ภายในตึกสูงจะมีโรงแรม 2 แบรนด์หรู ได้แก่ โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน จำนวน 124 ห้อง และโรงแรมเจดับบลิว แมริออท จำนวน 1,000 ห้อง ส่วนแบรนเด็ด เรสซิเดนซ์คือ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนซ์ จำนวน 180 ห้อง รวมทั้งหมด 1,304 ห้อง อยู่ภายใต้การบริหารของเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล
นอกจากนี้จะพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียทีคให้มีส่วนผสมของ Indoor & Outdoor Lifestyle และ จัดเตรียมพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมกับพัฒนาพื้นที่ด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเตรียมเซ็นสัญญากับพันธมิตรระดับโลก ขณะเดียวกันจะก่อสร้าง “บุดดา มิวเซียม” (Buddha Museum) ให้เป็นสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมด้วย รวมถึงการพัฒนาคอนเซ็ปต์อาคารสำนักงานรองรับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ และผุดโรงแรมใหม่อีกแห่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนเจริญกรุง ใช้แบรนด์โรงแรมออโตกราฟ คอลเลคชั่น ในเครือแมริออทฯเช่นกัน แต่ละองค์ประกอบของบิ๊กโปรเจคนี้จะทยอยเปิดให้บริการทีละโซน เช่น พื้นที่ค้าปลีกโซนใหม่ จะเปิดในปี 2567
ด้านโครงการมิกซ์ยูส “เวิ้งนาครเขษม” บนที่ดินแปลงประวัติศาสตร์กว่า 14 ไร่กลางไชน่าทาวน์ จะเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ใหม่ของกรุงเทพฯ โดยแอสเสทเวิรด์ฯจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอยรวม 148,766 ตารางเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2565 คาดแล้วเสร็จปี 2570
ประกอบด้วย โรงแรมภายใต้การบริหารของเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป (ไอเอชจี) 2 แบรนด์ ได้แก่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ จำนวน 332 ห้อง และโรงแรมไวท์ เลเบล จำนวน 32 ห้อง นอกจากนี้ยังมีแบรนเด็ด เรสซิเดนซ์ ภายใต้แบรนด์เครือไอเอชจีเช่นกัน เป็นห้องชุดให้เช่าจำนวน 122 ยูนิต ซึ่งมีตั้งแต่ประเภท 1-4 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 80-250 ตารางเมตร และห้องชุดเพนต์เฮาส์
อีกองค์ประกอบคือ โซโห เรสซิเดนซ์ (SOHO Residence) ห้องชุดหรูแบบเอ็กซ์คลูซีฟ จำนวน 10 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตารางเมตรต่อยูนิต รูปแบบการขายเป็นแบบลีสโฮลด์ ส่วนของพื้นที่ค้าปลีกเป็นอาคารให้เช่าเพื่อการค้าขนาด 25,000 ตารางเมตร รวมเป็นอาคาร 5 ชั้น โดยเป็นชั้นใต้ดิน 3 ชั้น ตั้งใจพัฒนาให้เป็น “Biggest Underground Retail” โดดเด่นเหมือนในประเทศจีนหรือเกาหลีใต้ และยังมีพื้นที่เอาต์ดอร์แบบลานกว้างเพื่อการค้าและจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้จะเชื่อมต่อกับอาคารโดยรอบที่จะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นอาคารคลาสสิกบอกเล่ายุคสมัยเริ่มก่อร่างสร้างเมือง พร้อมสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่เป็นองค์เจดีย์ที่จะอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐาน
“ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ของแอสเสทเวิรด์ที่จะดึงเสน่ห์ของไชน่าทาวน์กลับมา ดึงคุณค่าจากอดีตไปสู่ไลฟ์สไตล์ในอนาคต สร้างให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์ความภาคภูมิใจของคนไทย พรีเซนต์ให้คนทั่วโลกเข้ามาชื่นชม”
ส่วนโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่กลางเมืองพัทยา “AQUATIQUE DISTRICT PATTAYA” ประกอบด้วย 5 โรงแรม แบ่งเป็นแบรนด์ในเครือแมริออทฯ 3 แบรนด์ โดยโรงแรมเจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จำนวน 398 ห้อง กับโรงแรมพัทยา แมริออท มาร์คีส์ จำนวน 900 ห้อง จะอยู่ในตึกสูงของโครงการฯร่วมกับพื้นที่ค้าปลีกซึ่งจะพัฒนาให้เป็นจุดหมายปลายทางดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะที่โรงแรมอควอทีค พัทยา ออโตกราฟ คอลเลคชั่น จำนวน 306 ห้อง จะอยู่แยกอีกอาคาร ด้าน 2 แบรนด์โรงแรมภายใต้การบริหารของเครือไอเอชจี ได้แก่ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น จำนวน 234 ห้อง เป็นการรีแบรนด์โรงแรมเดิมซึ่งมีชื่อว่า แกรนด์ โซเล่ พัทยา ขณะที่อีกแบรนด์ของไอเอชจีรอเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
นอกจากโรงแรมแล้วยังมีแบรนเด็ด เรสซิเดนซ์อีก 2 แบรนด์ ได้แก่ เจดับบลิว แมริออท แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์ จำนวน 202 ห้อง และออโตกราฟ คอลเลคชั่น แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์ โดยทั้งโรงแรมและเรสซิเดนซ์จะทยอยเปิดให้บริการในช่วงปี 2567-2569 ด้านองค์ประกอบอื่นๆ จะมีแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และสถานที่ที่ตอบโจทย์แนวคิดเรื่องสุขภาพ (Wellness) มุ่งสู่การเป็นคอมเพล็กซ์ด้านไลฟ์สไตล์และความบันเทิงแห่งแรกในพัทยา
วัลลภา เล่าเพิ่มเติมว่า ทั้งมิกซ์ยูสขนาดใหญ่และโครงการย่อยอื่นๆ ของแอสเสทเวิรด์ฯจะต้องสร้างสรรค์ให้เป็น “ไลฟ์สไตล์ เรียล เอสเตท” ผ่านการตกผลึกเรื่องคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ที่จะนำไปผสานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ใหม่ เช่น โรงแรมที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง (Pet Friendly Hotel) และอื่นๆ
“ที่สำคัญต้องปรับตัวให้สอดรับกับยุคนิวนอร์มอลซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะจากจุดนี้เราเห็นแรงส่งของตลาดว่า ถ้าสถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้น ไลฟ์สไตล์ของการเดินทางท่องเที่ยวจะยิ่งน่าสนุกและน่าตื่นเต้นขึ้นไปอีก เนื่องจากดีมานด์ไม่ได้โดนจำกัดเฉพาะการท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุดทั่วไป แต่กลายเป็นการหลอมรวมไลฟ์สไตล์ระหว่าง Work กับ Vacation เป็น Workation นี่คือคอนเซ็ปต์ใหม่ของการใช้ชีวิต ทำงานไปด้วย เอ็นจอยไลฟ์สไตล์ไปด้วย”
ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ วัลลภา มองด้วยว่า เมื่อโควิด-19 เข้ามาดิสรัปการใช้ชีวิตและการเดินทางท่องเที่ยว จึงอยากเห็นประเทศไทยยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ “ออมนิ เอ็กซ์พีเรียนส์” (Omni Experience) เชื่อมออนไลน์กับออฟไลน์ เพื่อก้าวสู่การเป็น “ผู้นำด้านการท่องเที่ยวโลก” อย่างสมบูรณ์ในระยะยาว! ผ่านการเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี ตั้งแต่ขั้นตอนการขอวีซ่า ขอเอกสารรับรองต่างๆ จองสินค้าและบริการท่องเที่ยวล่วงหน้า จนถึงขั้นตอนการเดินทางจริง
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสามารถก้าวไปได้อีกสเต็ปด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ตอบโจทย์ความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวซึ่งต่างชื่นชอบประเทศไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยจุดแข็งเรื่องความสวยงามและความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยว รอยยิ้ม และการให้บริการระดับสุดยอด โดยในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างวางมาตรการเพื่อเตรียมเปิดประเทศรับนักเดินทางจากทั่วโลกกลับเข้ามาอีกครั้ง การทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกดีตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกเดินทางจึงสำคัญมาก แพลตฟอร์มออนไลน์จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจตรงนั้นให้กลับมา ว่าประเทศไทยพร้อมเข้าไปดูแลรอบด้าน ทั้งเรื่องประสบการณ์ สุขอนามัย และความปลอดภัยต่างๆ”